SOS หน่วยกู้ภัยอาหาร : ภารกิจกอบกู้ ‘อาหารส่วนเกิน’ สู่มื้อของผู้ขาดแคลนยามวิกฤติ


SOS หน่วยกู้ภัยอาหาร : ภารกิจกอบกู้ ‘อาหารส่วนเกิน’ สู่มื้อของผู้ขาดแคลนยามวิกฤติ

ไลฟ์สไตล์ไลฟ์

ไทยรัฐออนไลน์

19 พ.ค. 2564 14:26 น.

บันทึก
SHARE

  • ทราบหรือไม่ว่า ทุกวันนี้ ‘อาหารส่วนเกิน’ อย่างเช่นอาหารที่หมดอายุในซุปเปอร์มาร์เก็ต, อาหารในไลน์บุฟเฟต์ของโรงแรมที่ต้องคอยเติมให้เต็มตลอดเวลา และอาหารปรุงเสร็จหรือแปรรูปในร้านอาหาร ที่เคยต้องถูกทิ้งให้กลายเป็น ‘ขยะอาหาร’ แต่ละวันในบ้านเรานั้น ส่วนหนึ่งกำลังถูกดูแลจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดย ‘หน่วยกู้ภัยอาหาร’ ของมูลนิธิ SOS
  • โดยพวกเขาจะส่งรถตู้เย็นจำนวน 4 คันตระเวนไปยังจุดรับอาหารต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ ทั้งโรงแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารในศูนย์การค้า แล้วจึงส่งต่อไปยังชุมชนทั่วกรุงเทพฯ พร้อมจัดตั้ง ‘ครัวรักษ์อาหาร’ เพื่อนำวัตถุดิบหรืออาหารที่ได้มาปรุงหรืออุ่น ก่อนนำไปแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวกว่า 200 ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และกำลังประสบปัญหาเรื่องการกินอยู่ในช่วงโควิด-19
  • ในช่วงวันอาหารโลก (World Food Day) กลางเดือนตุลาคม ปี 2020 พวกเขายังได้ทำโครงการ ‘กินไม่ทันส่งต่อ’ ที่นอกจากจะเป็นการแบ่งปันอาหารแล้ว ยังช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการกินอย่างมีคุณค่า และการไม่สร้างขยะอาหาร ซึ่งจะสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการฝังกลบอาหาร ที่จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสู่บรรยากาศด้วย

เราเคยสงสัยไหมว่า อาหารที่แปะป้ายวันหมดอายุในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งอาหารสำเร็จรูป, อาหารแห้ง, อาหารกระป๋อง ฯลฯ หากหมดอายุแล้วขายไม่หมด อาหารเหล่านั้นถูกส่งต่อไปที่ไหน อีกทั้งอาหารในไลน์บุฟเฟต์ของโรงแรมที่ต้องคอยเติมให้เต็มตลอดเวลาอย่าได้ขาด ไปจนถึงอาหารปรุงเสร็จหรือแปรรูปในร้านอาหารนั่นด้วย

ตามที่เราเคยได้ยินมา อาหารเหล่านี้ เมื่อหมดอายุก็จะถูกทำลายทิ้งตามกฎของบริษัทผู้ผลิต หรือแจกจ่ายกันในหมู่พนักงานเองบ้าง ขึ้นกับธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ประกอบการที่ต่างกันไป เพราะความเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่หรือรายย่อยย่อมมีกติกาที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว อาหารเหล่านี้มักกลายเป็นของไม่มีราคา ตั้งแต่ยังไม่ถึงวันหมดอายุที่แท้จริง เพราะมาตรฐานของสินค้าที่จำหน่ายนั้น ต้องอยู่ในรูปลักษณ์สมบูรณ์เต็มร้อย ทำให้อาหารบางประเภทกลายเป็นขยะอาหารไปทั้งที่ยังบริโภคได้ ทั้งที่จริงแล้ว หากมองในอีกมุมหนึ่ง อาหารเหล่านี้คืออาหารที่ถูกผลิตออกมาเกินความต้องการ เป็นเพียง ‘อาหารส่วนเกิน’ ที่ถูกตีตราว่าไม่มีมูลค่า เพียงเพราะหน้าตาที่สวยน้อยลงไปจากเดิม

พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ (ขวา) ผู้จัดการพัฒนาเครือข่ายองค์กร มูลนิธิ SOS และหน่วยกู้ภัยอาหาร
พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ (ขวา) ผู้จัดการพัฒนาเครือข่ายองค์กร มูลนิธิ SOS และหน่วยกู้ภัยอาหาร


SOS หน่วยกู้ภัยอาหาร เพื่อไม่ให้ปลายทางอยู่ที่กองขยะ

“ทุกวันนี้โลกของเราผลิตอาหารที่มากพอจะเลี้ยงคนได้หมื่นล้านคน ในขณะที่ประชากรบนโลกมีเพียง 7.8 พันล้านคน แต่ยังคงมีคนอีกถึง 1 พันล้านคนที่ขาดแคลนอาหาร นั่นทำให้เราตระหนักว่า โลกของเรามีปัญหาเรื่องการกระจายอาหาร”

โบ เอช โฮล์มกรีน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SOS (เอสโอเอส) หรือในชื่อเต็มว่า Scholars of Sustenance เคยได้กล่าวเรื่องนี้เอาไว้ เขาเป็นอดีตนักธุรกิจด้านโลจิสติกส์ชาวเดนมาร์ก ที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แล้วเห็นการเหลือทิ้งของอาหารในโรงแรมอย่างสูญเปล่า เพราะเมื่อจบวัน พนักงานต้องเอาอาหารเหล่านั้นไปทิ้ง ในขณะเดียวกันที่นอกโรงแรม เขาได้เห็นว่าเมืองไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เขาจึงใช้ประสบการณ์การทำระบบโลจิสติกส์เข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยการขอเป็นตัวกลางส่งต่ออาหารเหล่านี้ไปยังผู้ที่ยังขาดแคลน โดยจัดตั้งมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2016 ก่อนจะก่อตั้งแห่งที่สองที่บาหลี อินโดนีเซีย โดยมีสำนักงานฝ่ายระดมทุนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนการทำงานของโครงการ

“การบริจาคอาหารในตอนแรกๆ จะเป็นกลุ่มโรงแรมค่ะ เวลาเราคุยเรื่องนี้กับเชฟส่วนใหญ่เขาจะเข้าใจ เพราะเขาเองก็รู้สึกว่าอาหารที่เขาทำมันมีคุณค่า ไม่อยากทิ้งไป โดยที่อาหารเหล่านี้เองก็ไม่ได้ถูกสัมผัสเลย จึงมีความปลอดภัยอยู่แล้ว” พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการพัฒนาเครือข่ายองค์กร มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินนี้ไปยังผู้ที่ต้องการ โดยไม่ต้องถูกทำลายไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งหลังจากมีพาร์ตเนอร์โรงแรมบริจาคอาหารปรุงสุกให้กับโครงการ ก็เริ่มมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารเข้าร่วมสนับสนุนด้วย จนปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการอาหารที่เข้าร่วมโครงการราว 200 ราย และมีการกระจายสาขาของ เอสโอเอส ประเทศไทย ออกเป็นสามสาขา คือในกรุงเทพฯ, หัวหิน และภูเก็ต

“เราได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากภาคธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้วกับปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ที่องค์กรธุรกิจจะต้องทำตามด้วย โดยในข้อที่ 12 เป็นเรื่องการบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งมีเรื่องขยะอาหารอยู่ในนั้น คือบริษัทต้องลดขยะอาหารให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จึงเป็นโอกาสที่ดีที่มีเอสโอเอสเข้ามาทำโครงการนี้”



สถานะ ‘ส่วนเกิน’ แต่ยังเป็นที่ต้องการ

ภารกิจของ เอสโอเอส ประเทศไทย จะเริ่มขึ้นในทุกยามสายของวัน เช่น ในกรุงเทพฯ รถตู้เย็นจำนวน 4 คันของโครงการจะตระเวนไปยังจุดรับอาหารต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ ทั้งโรงแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซัพพลายเออร์ต่างๆ และร้านอาหารในศูนย์การค้าที่มีการตั้ง ‘ตู้เย็นชุมชน’ นำอาหารส่วนเกินมาบริจาคไว้ในจุดเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการรับช่วงส่งต่อ โดยอาหารที่เก็บกู้มานั้น มีทั้งอาหารสดอย่างผัก, ผลไม้, อาหารปรุงสำเร็จ, อาหารกระป๋อง, นมกล่อง ฯลฯ

นับเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เพราะอาหารเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังชุมชนทันทีภายในเย็นวันนั้นเพื่อคงคุณภาพของอาหาร ที่นอกจากการรับและส่งต่อแล้ว ยังมีการจัดตั้ง ‘ครัวรักษ์อาหาร’ ซึ่งเป็นครัวชุมชนที่จะทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยนำอาหารที่ได้ไปปรุงเป็นอาหาร หรือหากเป็นอาหารปรุงสำเร็จจากโรงแรมและซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น แกง, ผัด หรือปลาทอด-ปลาย่าง ก็จะถูกนำมาอุ่นก่อน หรือนำไปปรุงเป็นเมนูใหม่ แล้วมีชาวบ้านในชุมชนหิ้วหม้อหิ้วปิ่นโตมารับกลับ เพื่อลดการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นแนวทางในการดูแลสิ่งแวดล้อมของโครงการด้วย โดยนอกจากภารกิจรับส่งอาหารแล้ว เอสโอเอสยังมีโมเดลส่งอาหารทางไกลไปยังพื้นที่ชายแดน โดยประสานงานกับหน่วยทหารหรืออาสาสมัคร เป็นตัวกลางในการส่งต่อ


ชุมชนที่ได้รับการส่งต่ออาหารเหล่านี้ จะเป็นชุมชนที่ผ่านการประเมินแล้วว่า เป็นกลุ่มเปราะบางที่อยู่ใต้เส้นความยากจน และโดยเฉพาะช่วงปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ที่การระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด และยิ่งยากต่อการทำงานมากขึ้นเมื่อหลายชุมชนที่มีความต้องการ กลายเป็นพื้นที่สีแดง พลอยเล่าให้ฟังถึงการทำงานของเอสโอเอส ทั้งการเลือกชุมชนเป้าหมาย และการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอาหารที่บริจาคอาหารส่วนเกินเข้ามา

“ชุมชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ตามที่มีการสำรวจมาคือเป็นชุมชนที่มีรายได้ต่ำกว่าสองพันบาทต่อเดือน ไปจนถึงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งจะมีการแบ่งระดับความต้องการความช่วยเหลือเป็นห้าระดับ ระดับหนึ่งกับสอง จะมีลักษณะว่ามีมูลนิธิเข้ามาขอความช่วยเหลือจากเราเป็นครั้งคราว เพราะบางครั้งเขามีงบจำกัด ระดับสามถึงสี่ คือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ทำงานรับจ้างรายวัน เป็นแม่บ้านในโรงแรม ที่ตอนนี้ตกงานกันหมด แล้วเขามีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู กลุ่มนี้เราจะส่งอาหารให้ผ่านหัวหน้าชุมชนหรือหน่วยงานที่ดูแล เพราะเราเองก็ต้องรัดกุมด้วยเนื่องจากมีสัญญากับผู้บริจาคอาหารว่าห้ามนำไปขายต่อ จึงต้องอาศัยผู้นำชุมชนช่วยจัดระเบียบ เราอาจจะเข้าไปวันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละครั้ง ดูตามสถานการณ์ กับอีกกลุ่มคือระดับห้า เราต้องไปช่วยทุกวัน ไม่อย่างนั้นเขาจะอยู่ไม่ได้เลย ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือ เขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขต บางทีเป็นซอกตึกเล็กๆ ที่ตกสำรวจ ไม่อยู่ในการดูแลของพื้นที่เขตไหนเลย การขอความช่วยเหลือจึงเป็นไปได้ยาก”


“ทุกๆ โครงการเราทำงานกับหัวหน้าชุมชนอยู่แล้ว หน้าที่หลักของเราคือรับอาหารจากผู้บริจาคไปส่งให้ผู้รับ แต่พอเกิดโควิด เราได้ตั้งครัวชุมชนขึ้นมา เพื่อทำอาหารปรุงสุกให้เขาด้วย เพราะวิกฤตินี้ เราเห็นเลยว่าหลายๆ ชุมชนเขาขาดแคลนอาหารจริง อย่างครัวชุมชนที่นางเลิ้งซึ่งอยู่ใกล้กับออฟฟิศเรา เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนมาช่วงที่โควิดระบาดหนักเราก็ต้องปิด แต่ก็ยังมีอีกนับสิบชุมชนที่เราเข้าไปช่วยอยู่ ซึ่งการไปตั้งครัวชุมชน เราจะดูจากปัญหาความลำบากของเขา และระดับความเสี่ยงของการติดต่อของโรค จริงๆ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เกิดปัญหาโควิดแล้วเราเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ในหลายที่ แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นเพราะเราทำเรื่องอาหาร เราต้องป้องกันการสัมผัส เพราะต้องมีอาหารที่ต้องส่งไปยังชุมชนอื่นด้วยเหมือนกัน” พลอยเล่าถึงกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการที่มีความหลากหลาย และต้องมีการประเมินกันอยู่เสมอ ว่าการให้ความช่วยเหลือจะมีจุดสิ้นสุดเมื่อไร

“เราคุยกับชุมชนชัดเจนตั้งแต่เริ่มติดต่อไป ว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่จะอยู่กับเขาตลอดไป แต่เรามาช่วยในช่วงที่เขายังหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ และเรายังมีการประสานกับมูลนิธิอื่นให้มาช่วยดูแลร่วมกัน อย่าง มูลนิธิสติ กับโครงการ Covid-Relief ว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้ยังไง มีอะไรที่เราจะช่วยฝึกทักษะให้กับเขาได้บ้าง อย่างการทำครัวชุมชนเราช่วยให้บางคนได้รับทักษะในการทำอาหารมากขึ้น”

“ทีมประสานงานชุมชนของเราจะเข้าไปประเมินอยู่เรื่อยๆ ว่าชุมชนนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือยัง ความขาดแคลนปรับระดับขึ้นมาอยู่ที่ระดับหนึ่งหรือสองแล้วหรือเปล่า ถ้าดีขึ้นแล้วเราก็จะคุยกับเขาว่าขอหยุดการนำมาให้ เพื่อขยายการส่งต่อไปยังชุมชนอื่นที่ยังต้องการความช่วยเหลือ”


มากกว่าการส่งต่ออาหารการกิน คือการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในแต่ละวัน เอสโอเอสทำการกู้ภัยอาหารในกรุงเทพฯ ได้ราว 2-3 ตัน อาหารเหล่านั้นจะถูกบรรจุขึ้นรถบรรทุกห้องเย็นทั้ง 4 คัน แล้วแบ่งการวิ่งออกเป็น 4 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและใกล้เคียง จากรายงานในปี 2020 เอสโอเอส ประเทศไทย จัดหาอาหารให้แก่ชุมชนเปราะบางนับ 200 ชุมชนจากการทำงานของทั้ง 3 สาขาสำนักงาน คิดเป็นอาหารจำนวน 1 ล้านกิโลกรัม คำนวณค่าการลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.9 ล้านกิโลกรัม

และช่วงวันอาหารโลก (World Food Day) กลางเดือนตุลาคม ปี 2020 ยังได้ทำโครงการ ‘กินไม่ทันส่งต่อ’ ที่นอกจากจะเป็นการแบ่งปันอาหารแล้ว ยังช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการกินอย่างมีคุณค่า และการไม่สร้างขยะอาหาร ซึ่งจะสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการฝังกลบอาหาร ที่จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสู่บรรยากาศด้วย

อาหารประเภทไหนที่ถูกทิ้งมากที่สุด – เราตั้งคำถามกับพลอย ก่อนที่เธอจะขยายความให้เห็นภาพว่าในแต่ละวันเราสร้างขยะอาหารกันเยอะแค่ไหน

“ผักกับผลไม้ค่ะ เยอะมาก เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ตเขาต้องเปลี่ยนบ่อย เนื้อสัตว์ก็เยอะ แต่เราไม่สามารถเอามาได้ขนาดนั้นเพราะในรถตู้เย็นของเราไม่ควรเก็บผักผลไม้และเนื้อสัตว์เข้าด้วยกัน เพราะจะเกิดการปนเปื้อน เสี่ยงต่อการเกิดแบคทีเรีย ฉะนั้น สิ่งที่เรารับมาจึงมักเป็นผักผลไม้ อาหารกระป๋อง ตามความเข้าใจ พลอยคิดว่าที่เรามีผักผลไม้ส่วนเกินเยอะเพราะว่าพอผักไม่สวย ก็จะถูกตีตราว่าหมดอายุ ทั้งๆ ที่ผักไม่มีวันหมดอายุ อย่างซัพพลายเออร์ที่อิมพอร์ตผักญี่ปุ่นเข้ามา หัวไชเท้า แครอต ใหญ่มาก เขาโทรมาบอกว่าขายไม่ได้แล้ว แต่ส่งมาที่เรายังสวยมาก คนรับตาลุกวาวเลย ทีมเราก็ยังได้ตัดหัวมาปักชำต่อ เพราะมันมีตำหนินิดเดียวจริงๆ”

“และเขาจะมีการวางแผนเผื่อวันหมดอายุจริงๆ ไว้ด้วย ทำให้เราสามารถส่งต่อได้ภายในวันหมดอายุ หรืออย่างถ้าเป็นอาหารกระป๋องที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ สามเดือนก่อนหมดอายุเขาจะตีกลับไปที่โรงงานเพื่อเปลี่ยนลอตใหม่ไปใส่เชลฟ์ แล้วติดต่อให้เราไปรับของที่ตีกลับ ส่วนอาหารที่จัดการค่อนข้างยากจะเป็นอาหารจากโรงแรม ตอนแรกเราไม่รับข้าวสวย ไม่รับแกงกะทิ ไม่รับอาหารทะเลเลย จนตอนหลังที่เรามีครัวชุมชนจึงรับ เพราะเราสามารถเอาไปปรุงหรืออุ่นต่อได้ทันที แต่ก่อนรับมาจะมีทางเชฟเป็นคนช่วยดูอยู่แล้ว เพราะเขาจะส่งมาแต่อาหารที่ไม่ถูกแตะต้องเลย โดยใส่กล่องทัปเปอร์แวร์ที่เราเตรียมไว้ให้แล้วส่งขึ้นรถตู้เย็น”


ด้วยกำลังและทีมงานที่เอสโอเอสมี พลอยบอกว่าเอสโอเอสยังรับอาหารได้เพียงแค่ 0.05 เปอร์เซ็นต์ของขยะอาหารทั้งหมดในกรุงเทพฯ เท่านั้น

“เงื่อนไขที่เราทำเอ็มโอยูกับพาร์ตเนอร์ชัดเจนก็คือ หากผู้รับอาหารไปกินแล้วป่วย เอสโอเอสจะเป็นคนรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2016 ยังไม่เคยมีเคสไหนที่ป่วยจากการกินอาหารที่เรารับมา เพราะเรามีการจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วงแรกเราทำงานโดยเขียนโครงการขอเข้าไป หลังๆ มานี้ก็มีการติดต่อเข้ามาเอง แต่เราก็จะให้การบ้านกับผู้บริจาคก่อนในการขอดูลิสต์ว่ามีอะไรที่เขาต้องทิ้งบ้าง เราจะมาคำนวณและดูอีกทีว่ามีอะไรที่รับได้หรือรับไม่ได้ แล้วมีทีมงานของเราซึ่งเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยด้านอาหารเข้าไปดูอาหารที่สาขาหรือที่โรงงานผลิตว่าควรจัดส่งกันแบบไหน และขอให้ชั่งน้ำหนักว่ามีอะไรเท่าไร เพื่อเราจะได้มาคำนวณหาค่าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของโครงการเราด้วย”

การเข้ามารับช่วงส่งต่ออาหารส่วนเกินของเอสโอเอส จึงเป็นโครงการที่สมประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งพลอยชี้ให้เราเห็นเป็นข้อๆ ว่า “อาหารส่วนเกินที่เหลือจากภาคธุรกิจอาหารเมื่อส่งมาที่เราเขาก็ไม่ต้องส่งไปทิ้งหรือส่งไปทำลาย เพราะการทำลายบางครั้งก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะ การเข้าไปรับของเราจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ และอาหารของเขายังได้ช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในขณะเดียวกันก็ได้แก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนภาครัฐเองในแง่ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เอสโอเอสก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้”


โครงการรับมาและส่งต่อ โดยต้นทุนที่มียังเป็นการสนับสนุนจากมูลนิธิของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก แม้ที่ผ่านมาจะได้คิดทำแผนระดมทุน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด จึงเป็นการยากที่จะขยับตัวในตอนนี้ พลอยบอกว่าข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้เอสโอเอสยังไม่สามารถรับบริจาคจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ได้ ก็เนื่องจากระบบการทำงานที่ไม่สามารถทำการลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคได้ เพราะการปฏิบัติงานมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเนื่องจากเป็นระบบโลจิสติกส์ การจะนำเงินบริจาคมาใช้กับการปฏิบัติการจึงไม่สามารถทำได้เพราะมีข้อกำหนดว่ามูลนิธิต้องใช้เงิน 60-70 เปอร์เซ็นต์ไปกับสาธารณประโยชน์ จึงเป็นโจทย์ที่ยังต้องขบคิดกันหลังสถานการณ์คลี่คลาย ว่าจะสามารถปรับโมเดลได้อย่างไรบ้าง

ระหว่างนี้ เอสโอเอสยังคงเดินหน้าทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเปิดครัวรักษ์อาหาร ครัวชุมชนในคลัสเตอร์ที่มีการระบาดใหม่ จึงต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์ครัวและอาหารที่เก็บได้นานเพิ่มขึ้น โดยสามารถส่งบริจาคได้ที่อาคาร FREC BANGKOK เลขที่ 77 ถนนนครสวรรค์ เเขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 หรือบริจาคเป็นเงินผ่าน เทใจ (TaejaiDotcom) ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า

ขอบคุณภาพจาก SOS Thailand

อ่านเพิ่มเติม…