30 ปี เสรีภาพสื่อฯ โลกหวังเฝ้าบ้าน


30 ปี เสรีภาพสื่อฯ โลกหวังเฝ้าบ้าน

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

3 พ.ค. 2564 05:09 น.

บันทึก
SHARE

สถานการณ์ทั่วโลกต่างตกอยู่ใน ภาวะไม่ปกติสุขอันมาจากความขัดแย้งการเมือง และการระบาดโควิด-19 รุนแรงต่างกันแต่ละประเทศ “สื่อมวลชน” ยังทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยากลำบาก ภายใต้ “ความเสี่ยงภัยคุกคาม” ทั้งถูกฟ้องคดีความมั่นคง หมิ่นประมาท การข่มขู่ทำร้ายร่างกาย กลายเป็น “แรงกดดันไร้ซึ่งเสรีภาพ” ในการตรวจสอบแล้ว “ประชาชน” ถูกลิดรอนสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน


ข่าวแนะนำ

เหตุนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ เเละวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อรำลึกถึงบทบาทสื่อมวลชนทั่วโลกที่อุทิศตนทำงานในฐานะผู้นำสารเผยเเพร่ให้ความรู้ และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ในส่วน “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรสื่อมวลชนไทย” ต่างแสดงจุดยืนต้องการเห็นสื่อมวลชนยึดมั่นภายใต้ “หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” เพื่อประชาชนได้รับรู้ข่าวสารรอบด้านในปีนี้วันเสรีภาพฯ ครบรอบ 30 ปี ตรงกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีผลกระทบต่อทุกหย่อมหญ้านี้

ทำให้ “เสรีภาพของสื่อมวลชนไทย” ตกอยู่ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโรคระบาดนี้สุ่มเสี่ยงถูกอำนาจรัฐแทรกแซง คุกคามการทำหน้าที่อันขัดต่อเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้ให้การรับรองเสรีภาพการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ดังนั้นควรปล่อยให้เกิดการไหลเวียนข้อมูลข่าวสาร

และดูแลความปลอดภัยการทำงานสื่อมวลชนที่เข้าไปรายงานในพื้นที่เสี่ยงที่ไม่ควรตกเป็นเป้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยโดยการหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

การทำหน้าที่สื่อมวลชนไทยบนเสรีภาพนี้ “ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง” นักข่าวอิสระสมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือไอซีไอเจ บอกว่า ไม่นานนี้ “องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” เผยแพร่จัดอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน 180 ประเทศ พบว่า สิทธิเสรีภาพสื่อทั่วโลกตกต่ำลง 12% นับแต่เริ่มจัดอันดับครั้งแรกปี 2556

นั่นหมายความว่า “เสรีภาพสื่อมวลชนย่ำแย่ลง” ในส่วน “ไทย” ขยับขึ้นจากอันดับ 140 มาเป็น 137 มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 119 ขยับตกลงมาจากที่เคยอยู่ 101 อินโดนีเซีย 113 ขยับดีขึ้นจาก 119 และเกาหลีเหนือตกอยู่อันดับ 180 แต่ว่าภาพรวมแล้ว “เสรีภาพสื่อประเทศเอเชียแปซิฟิก” ค่อนข้างแย่ถึงแย่มากอยู่เช่นเดิมด้วยซ้ำ

ถ้าหากมาดู…“สื่อมวลชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตามที่สำรวจมักเจออุปสรรค “การใช้มาตรการทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการคุกคามสิทธิของสื่อในการรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นอิสระหลากหลายได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างเช่น “มาเลเซีย” มีการนำ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารใช้บังคับเอาผิดต่อผู้เผยแพร่ข้อมูลทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต “อินโดนีเซีย” ออก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาบังคับห้ามเผยแพร่ข่าวในการสร้างความตื่นตระหนกอันถือเป็น “ข่าวเฟกนิวส์” ที่ต้องมีบทลงโทษ ในฟิลิปปินส์ สื่อแรปเลอร์ก็ถูกใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเช่นกัน

โดยเฉพาะสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในยุค “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ “สื่อมวลชนสหรัฐฯ” เผชิญปัญหา “แหล่งข่าวจากภาครัฐ” ให้ข้อมูลกํากวมขัดแย้งกันเอง กลายเป็นสังคมสับสนทำให้ ม.แคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ จัดเสวนาวิชาการสรุปสาเหตุนี้กำลังส่งผลให้ “นักข่าว” ไม่วางใจข้อมูลอันมาจาก “รัฐบาล”

หนำซ้ำ “สื่อ” ยังเจอ “ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ” อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “นักข่าวถูกเลย์ออฟมากมาย” ส่งผลให้ “ไม่มีผู้ทำหน้าที่หาข่าว” ที่เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเพียงพอ ถูกมองว่า “นักข่าวรุ่นใหม่อ่อนแอกว่ารุ่นเก่า 40%” มุ่งเน้นเสนอข่าวเบรกกิ้งนิวส์ หรือข่าวด่วนมากกว่าข่าวอธิบายเชิงลึกที่ทำให้สังคมเข้าใจ


ประเด็น…“คุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนไทย” ต้องเผชิญปัญหา “ถูกจำกัดการทำหน้าที่” ด้วยข้อกฎหมายเข้ามาควบคุม และการเซ็นเซอร์กันเอง นับแต่เริ่มมี “โซเชียลมีเดียราว 20 ปีก่อน” ที่ประชาชนสนใจตอบรับอย่างรวดเร็ว กลายเป็นว่า “นักข่าว” ไม่ใช่ผู้พูดได้ฝ่ายเดียวต่อไป แต่ยังมี “คนอื่น” ใช้ช่องสื่อออนไลน์พูดได้เช่นกัน

แต่การที่ “สื่อมวลชน” พูดนี้มักอยู่บนหลักพื้นฐานวิชาชีพ ในส่วน “คนไม่ใช่นักข่าว” กลับใช้ถ้อยคำแสดงความเห็นแบบใดก็ได้ ยิ่งกว่านั้น “บางคนพูดอย่างมีคุณภาพ” ให้ความรู้สังคมผ่านสื่อออนไลน์ได้อีกสะท้อนให้เห็นว่า “โลกโซเชียลฯ” มีข้อมูลความรู้ อารมณ์ความรู้สึกท่วมท้น กระทบต่อการทำงานสื่อไทยที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด

เช่นนี้ “นักข่าวรุ่นใหม่” กำลังเติบโตขึ้นมาในสายวิชาชีพ “ยุคโซเชียลฯ” ต้องเผชิญแต่การแข่งขันความเร็ว กลายเป็นเสียโอกาสการแสวงหาข้อเท็จจริง ความรู้ และขาดกลไกการไตร่ตรองให้เนื้อหาข่าวอย่างครบถ้วน อีกทั้งทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ สื่อมืออาชีพ และผู้ใช้โซเชียลฯ ทำให้เกิดความสับสนของการทำหน้าที่ตามมา

ในเรื่อง “เทคโนโลยี” เข้ามารวดเร็วนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งจาก “บริบทข้อมูลเนื้อหาข่าวเริ่มข้ามพรมแดน” ตามการเปลี่ยนแปลงขยายตัวของธุรกิจ สังคม และทุนนิยมโลก เช่น คนร้ายก่อเหตุในไทยแล้วโยกย้ายเงินไปเก็บไว้ในต่างประเทศ ในอนาคต “การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” ย่อมต้องซับซ้อนลำบากยิ่งขึ้น

จึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสื่อมวลชนระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อการต่อจิ๊กซอว์เนื้อหารายงานข่าวอย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องรอบด้านให้ได้

ย้ำว่า…“สื่อมวลชน” ต้องเผชิญ “ข่าวปลอม ข่าวเท็จ” ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่เรียกกันว่า“post-truth หรือหลังความจริง” ตามพจนานุกรม Oxford ปี 2016 ยกให้เป็นคำแห่งปี มีความหมายว่า “อารมณ์ความรู้สึกความเชื่อส่วนตัวมีอิทธิพลเหนือข้อเท็จจริง” แสดงถึงว่าคนมักเชื่อตามความรู้สึก อารมณ์ อคติตัวเองมากกว่าข้อเท็จจริง

แต่ว่า “ข้อเท็จจริงนี้” กลับเป็นสินค้าที่ “นักข่าวขายให้สังคม” กำลังกลายเป็นสิ่งที่คนหมู่มากไม่สนใจแล้ว เหตุนี้การรายงานข่าวข้อมูลจริงออกไปเพียงใดก็มักถูกตำหนิ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้นยังหมายถึง “สื่อมวลชนทั่วโลก” ก็เผชิญสถานการณ์ลักษณะเดียวกัน ทำให้เสรีภาพสื่อยุคนี้ถูกคุกคามหลายด้านมาก



โดยเฉพาะ “โรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมือง และการเติบโตอินเตอร์เน็ต” ที่เป็นแรงเสียดทานต่อนักข่าวต้องประคองให้อยู่รอด กลายเป็นบางคนทำตัวไม่เหมาะสมถูกวิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์เหมารวมด้วยซ้ำ

สถานการณ์นี้ “องค์กรสื่อ” ต้องหนักแน่นด้วยการดูแลคุ้มครอง “นักข่าว” ที่ทำหน้าที่บนความถูกต้อง “ตัวนักข่าว” ยึดหลักวิชาชีพสร้างประโยชน์ต่อสังคมตาม “สิทธิเสรีภาพชอบธรรม” ที่มิอาจถูกคุกคามกีดกันได้

หลักสำคัญ…“เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว และเรื่องทางวิชาชีพ” ที่ไม่สามารถข้ามเส้นแบ่งนี้ได้ มิเช่นนั้นก็กลายเป็นการหาประโยชน์ ใช้อภิสิทธิ์อื่นใด สร้างความเสียหายทั้งตัวนักข่าว องค์กร และวงการสื่อมวลชนให้ตกต่ำลงด้วยกันทั้งหมด “องค์กรสื่อ” ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเช่นนี้ขึ้น

ดังนั้น “นักข่าวต้องรู้จักวางตัว” ให้เหมาะสมกับฐานะของการเป็นมืออาชีพ ทั้ง “ต้องรู้จักปกป้องตัว” เพราะมักทำงานบนความเสี่ยงอันตราย ในต่างประเทศมีหลักสูตรเยียวยาจิตใจนักข่าว ที่ต้องเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายกระทบจิตใจในการไปรายงานข่าว เช่น สถานการณ์สงคราม คดีอาชญากรรมรุนแรงหลายรูปแบบ


สิ่งสำคัญ…“โลกต้องการสื่อมวลชนมืออาชีพอยู่เสมอ” เพราะเป็นผู้ชำนาญเฉพาะเจาะจงในการทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงอย่างมีคุณภาพในเวลารวดเร็ว ตามมาตรฐานการสื่อสารทางวิชาชีพบนพื้นฐานจริยธรรมควบคุมกำกับเสมอ แต่ลักษณะงานเช่นนี้ “สื่อโซเชียลฯ” ทำไม่ได้ เพราะมักเสนอนำตามอารมณ์และอคติอยู่มากมาย

ตอกย้ำว่า “การทำงานอาชีพสื่อมวลชน” มักมีหลักปฏิบัติและทักษะบางประการที่ได้รับการฝึกฝนอบรมกันมาอย่างดี สิ่งที่มากกว่านั้นคือความเข้าใจใน “เรื่องจริยธรรม และมาตรฐานทางวิชาชีพ” อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ ของสาธารณะทางสังคมเป็นที่ตั้งไม่ใช่ “ทำงานตามข่าวเอาตัวรอด” ไปใน แต่ละวันด้วยซ้ำ

เชื่อว่า “นักข่าวทำหน้าที่โดยสุจริตใจด้วยความรักในวิชาชีพ” มีความพร้อมทุ่มเทความสามารถศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทยอยู่เสมอ และไม่ให้ท้อถอย “องค์กรสื่อ” ต้องประคองสถานการณ์แล้วหันมามุ่งเน้นเสนอข้อมูลอย่างมาตรฐานมิใช่กดดันรายงานข่าวเรียกยอดกดไลค์ หรือกดแชร์เป็นหลัก

ยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้นเช่นนี้ “ข่าวสารอันเป็นความจริง” เท่านั้นที่ยังคงขายได้ ดังนั้น “เสรีภาพของสื่อมวลชน” มีความจำเป็นในการทำหน้าที่นี้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ.

อ่านเพิ่มเติม…