โรงพยาบาลสนาม ต่างจากฮอสพิเทล (Hospitel) อย่างไร


โรงพยาบาลสนาม ต่างจากฮอสพิเทล (Hospitel) อย่างไร

ไลฟ์สไตล์ไลฟ์

ไทยรัฐออนไลน์

19 เม.ย. 2564 14:52 น.

บันทึก
SHARE

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วประเทศ ทางจังหวัดต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มจำนวนเตียงรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งผู้ที่มีอาการหนัก และผู้ป่วยโควิด-19 ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง เพื่อขยายการรักษาให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน โดยหลายจังหวัดเริ่มตั้งโรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล (Hospitel) บ้างแล้ว ทั้ง 2 สถานที่มีความแตกต่างกัน แต่ได้รับการดูแลจากแพทย์โรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อให้การรักษาได้อย่างทั่วถึง

โรงพยาบาลสนาม คืออะไร


โรงพยาบาลสนาม (Field hospital) คือสถานที่ที่จัดขึ้นมาให้รองรับจำนวนผู้เข้ารับการรักษาได้ทีละจำนวนมาก โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปัจจุบันเริ่มจัดตั้งในแต่ละจังหวัดต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น มีรายละเอียดดังนี้


1. โรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อม และการระบายอากาศที่เหมาะสม เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย และความพร้อมด้านที่พักเหมาะสมหรืออาคารที่มีห้องน้ำในตัว เช่น วัด โรงเรียน อาคารอเนกประสงค์ เป็นต้น

2. โรงพยาบาลสนามไม่เหมาะกับผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และ ไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ

3. ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ดูแลรักษาได้โดยวิธีการพูดคุยกับคุณหมอผ่านกล้อง (Telemedicine & Care) และหากมีอาการหนักต้องนำส่งโรงพยาบาลเครือข่าย

ฮอสพิเทล (Hospitel) คืออะไร


ฮอสพิเทล (Hospitel) หรือที่เรียกว่า “หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ” คือสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่ายเช่นกัน ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาเองโดยไม่มีการขออนุญาต ลักษณะของฮอลพิเทล มีดังนี้

1. อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เข้ารับการรักษา โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วย้ายมา (Step Down) อาจเป็นหอพัก หรือโรงแรม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

2. อาคารของฮอลพิเทล ต้องได้รับการตรวจสอบลงทะเบียนตามแนวทางของกรมการแพทย์ โดยต้องเป็นอาคารที่มีโครงสร้างที่เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยสนับสนุนอย่างถูกหลักป้องกันโรคระบาด พร้อมทั้งมีเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการสังเกตอาการด้วยการเอกซเรย์ปอดก่อน แล้วมีห้องปฏิบัติการตรวจพื้นฐาน (CBC) เพื่อรายงานผลสู่โรงพยาบาลแม่ข่าย

3. ผู้เข้ารับการรักษาได้รับการติดตามผลสัญญาณชีพ และ Oxygen set เป็นระยะ อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง

4. หากมีอาการผิดปกติ แพทย์เป็นผู้พิจารณาย้ายโรงพยาบาลในเครือข่ายเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี ทั้งโรงพยาบาลสนาม และฮอลพิเทล (Hospitel) จะรับผู้ป่วยจากทางโรงพยาบาลเป็นผู้ส่งตัวมา ทางผู้ป่วยเองไม่สามารถระบุเจาะจงเพื่อเข้ารับการรักษากับสถานที่ดังกล่าวได้โดยตรง ดังนั้นแล้วหากประชาชนมีความเสี่ยง ต้องเข้ารับการประเมินที่เหมาะสมกับสถานพยาบาลเสียก่อน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการหาเตียงโควิด-19 โทร 1669 และ 1330 ได้ 24 ชั่วโมง หรือ 1668 ในเวลา 08.00 – 22.00 น.

ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม…