โควิดเขย่าแผน “ร้านขายยาโลก” โอกาส “อินเดีย” ท้าชนจีน ถูกสั่นคลอน


โควิดเขย่าแผน "ร้านขายยาโลก" โอกาส "อินเดีย" ท้าชนจีน ถูกสั่นคลอน

สกู๊ปไทยรัฐWORLD

ไทยรัฐออนไลน์

3 พ.ค. 2564 05:30 น.

บันทึก
SHARE

  • “ตลาดยา” ภายในประเทศของอินเดีย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในปี 2562 มากถึง 5.88 แสนล้านบาท หรือ +8.49% (YoY)
  • อินเดียจัดส่งวัคซีนชนิดต่างๆ มากกว่า 50% ของความต้องการโลก
  • อินเดียมีส่วนแบ่งกำลังแรงงานในด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ยามนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่มีที่ไหนน่าหวาดหวั่นใจเทียบเท่ากับ “อินเดีย” เพียงเวลาแค่ 2 เดือน จากมีผู้ติดเชื้อรายวันหมื่นต้นๆ พุ่งทะยาน 2-3 แสนต่อวัน จนยอดสะสมเวลานี้ (2 พ.ค. 64) สูงถึง 19 ล้านราย

จากตัวเลขที่เกิดขึ้น ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับอินเดียเพียงเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ก็วิตกกังวลไม่ต่างกัน เพราะหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 กันไปแล้ว เหมือนว่าสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลาย หากเกิดการติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ว่านี้อีก ก็เกรงว่าโลกจะวนกลับไปซ้ำรอยอย่างปีก่อน ดังนั้น ข่าวที่ได้ยินและภาพที่เห็นตอนนี้ คือ หลายๆ ประเทศ “งดรับ” ผู้เดินทางจากอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม: “อินเดีย” วิกฤติ โควิดกลายพันธุ์ ไวรัสปรับตัวสู้อากาศร้อน ต้านวัคซีน

สำหรับ “อินเดีย” เองแล้วนั้น นอกจากผลกระทบทางสาธารณสุขที่เกินจะรับมือในขณะนี้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่าง “อุตสาหกรรมยา” ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

“อินเดีย” กับฉายานาม “ร้านขายยาโลก”


ย้อนกลับไปปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อินเดียกำลังรุ่งโรจน์กับการโลดแล่นใน “ตลาดยา” ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะตลาดยาภายในประเทศ ที่จากข้อมูลของรัฐบาลอินเดียพบว่า สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมากถึง 1.4 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 5.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.29 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 5.42 แสนล้านบาท หรือ +8.49% ในปี 2561

แน่นอนว่า ฉายานาม “ร้านขายยาโลก” ไม่ได้มาแบบโชคช่วย ซึ่งต้องยอมรับว่า “อินเดีย” มีบทบาทสำคัญอย่างมากใน “อุตสาหกรรมยา” ของโลก โดยอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของอินเดียนั้น มีผู้เล่นในสนามทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่มีศักยภาพอันยอดเยี่ยม ถือเป็น “ฟันเฟือง” ที่นำทางให้อุตสาหกรรมยาของอินเดียขับเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมกับเป้าหมายจุดสูงสุดที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

ประโยคท้ายนั้น คือ คำประกาศมาดมั่นที่อินเดียวางเป้าหมายไว้ก่อนที่วิกฤติโควิด-19 จะซัดกระหน่ำ เขย่าแผนการจนสั่นคลอนอย่างในเวลานี้

ความมั่นใจที่ทำให้อินเดียวาดฝันไว้ คือ “ตัวเลข” ที่เกิดขึ้นจริงต่างๆ ภายในวงล้อมของอุตสาหกรรมยา นับตั้งแต่การจัดส่งวัคซีนชนิดต่างๆ มากกว่า 50% ของความต้องการทั่วโลก ไปจนถึงการเป็น “ผู้ผลิตยา” รายใหญ่อันดับ 3 ในแง่งบประมาณและการผลิตวัคซีน ซึ่งมีการประเมินว่าอยู่ที่ 60% ของการผลิตทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียยังถือเป็นส่วนสำคัญในการจัดหาวัคซีนบีซีจี (BCG) ที่ใช้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคคอตีบ และวัคซีนโรคบาดทะยัก ให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) มากกว่า 40-70% รวมถึงการสนับสนุนการฉีดวัคซีนรักษาโรคหัดกว่า 90% ของโลก

ที่ว่ามาคร่าวๆ นั้น ทำให้ “อุตสาหกรรมยา” ของอินเดียเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีคุณภาพและความปลอดภัยสูง

เปิดแผน “ร้านขายยาโลก”


อินเดียมี “กำลังแรงงาน” ด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยจากข้อมูลของรัฐบาลอินเดียพบว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ประกอบด้วย ยาชีวเภสัชภัณฑ์, การบริการชีววิทยา, เกษตรชีวภาพ, อุตสาหกรรมชีวภาพ และชีวสารสนเทศศาสตร์ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2568 จะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.11 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ในตลาดอินเดียจะเติบโตถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.79 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน อินเดียส่งออกผลิตภัณฑ์ยามากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีตลาดสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา

ความสำเร็จของอินเดียนั้น ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2563 ในยามนั้นมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 10 ล้านกว่าราย และมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่หมื่นต้นๆ ยังไม่เกินกำลังจะรับมือ ดังนั้น เป้าหมายที่วางไว้กับการอยู่ตำแหน่งสูงสุดของ “ร้านขายยาโลก” จึงยังไม่หมองมัว

ที่ผ่านมา อินเดียมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาและเภสัชกรรมหลากหลายรูปแบบ หลากหลายชนิด ประกอบด้วย ตำรับยา, สารตัวกลาง, ผลิตภัณฑ์ชีววิทยา, ผลิตภัณฑ์ทางด้านการผ่าตัด (ศัลยกรรม) และอายุรเวท, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการผลิตยาให้กับบริษัทอื่นๆ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 มีมูลค่าสูงถึง 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.07 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีการประมาณการว่า กว่า 80% ของยาต้านรีโทรไวรัส (ARV) ที่มีการใช้ทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง นั้นได้รับการจัดหาโดยบริษัทยาของอินเดีย

COVID IMPACT ผลกระทบ ความท้าทาย และโอกาส


อย่างที่หลายๆ ประเทศประสบพบเจอกัน นั่นคือ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง “อินเดีย” เองก็หลบหนีไม่พ้น แต่นั่นก็เป็นประโยชน์ในการ “อำพรางตัว” ของ “อุตสาหกรรมยา”

โอเคว่า แม้จะมีธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน และการนำเข้าสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมจากจีน แต่กลับพบ “โอกาส” บางอย่างใน “อุตสาหกรรมยา” ของโลกแห่งนี้ โดยเฉพาะ “อินเดีย”

หากเจาะเข้าไปใน “ตลาดการผลิตยา” อินเดียกำลังเผชิญการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงจากจีน กับการลงเล่นในบทบาทเป็น “ผู้จัดหา” สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมที่มี “ต้นทุนต่ำ”

ปกติแล้ว อินเดียมีการนำเข้าสารออกฤทธิ์ฯ จากจีนกว่า 70% ซึ่งนั่นได้สร้างความยากลำบากให้กับบริษัทยาภายในประเทศที่อุตสาหกรรมการผลิตมีสารออกฤทธิ์ฯ เป็นส่วนประกอบสำคัญ อาจบอกเป็นนัยได้ว่า “ความมั่นคงทางสุขภาพ” ของอินเดียเสี่ยงที่จะตกอยู่ภายใต้การคุกคาม อันเป็นผลมาจากการพึ่งพาจีนมากเกินไป กับการผูกมัดการขาดแคลนสารออกฤทธิ์ฯ อันแสนสำคัญนี้

หากจะบอกว่า “จีน” คือ “คู่แข่ง” ที่เป็น “ปัจจัย” สำคัญนอกเหนือจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ “อินเดีย” อาจไปไม่ถึงตำแหน่งสูงสุด ก็คงพอเป็นไปได้

เพราะอย่างที่ทราบกันว่า สารออกฤทธิ์ฯ นี้สำคัญมากในการบรรเทาการเพิ่มขึ้นของโรค เช่น วัณโรค เบาหวาน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดในอินเดีย ซึ่งการที่บริษัทยาอินเดียพึ่งพาสารออกฤทธิ์ฯ จากจีน ก็ก่อให้เกิดความกังวลอย่างหนักถึงความมั่นคงทางสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลอินเดียกำลังเร่งจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนผลจะตอบรับเป็นอย่างไร…คงต้องติดตาม

ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่โควิด-19 ในห้วงเวลาก่อนที่จะเกิดระลอกใหม่นี้ นับเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลอินเดียเลยก็ว่าได้ กับการรื้อถอนอุปสรรคทางเทคนิคและทางการเงิน หนึ่งในนั้นมีการกระตุ้น “อุตสาหกรรมยา” ที่ถูกคุกคามการผลิตด้วยสารออกฤทธิ์ฯ ที่ว่านี้ กับวิธีการลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมยาของจีนลง

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังเสนอแพ็กเก็จกระตุ้น 1.3 หมื่นล้านรูปี หรือประมาณ 5.46 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศ ทั้งวัสดุตั้งต้น สารตัวกลาง สารออกฤทธิ์ฯ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกทั้งตัวแทนสำคัญๆ ของอุตสาหกรรมยา และหน่วยงาน NITI Aayog ก็บ่งชี้ว่า กำลังมีการสนับสนุนการอนุมัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเภสัชกรรม การยกเว้นทางภาษี เป็นต้น


ซึ่ง “โอกาส” สำคัญของอินเดีย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ คือ การเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น น้ำยาล้างมือ หน้ากากอนามัย ยาฆ่าเชื้อโรค ถุงมือผ่าตัด ชุดป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ชุดทดสอบ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องระบายอากาศ และอื่นๆ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ และให้ผลผลิตได้รวดเร็ว

และนับตั้งแต่ปี 2557 จากข้อมูลของรัฐบาลอินเดีย พบว่า มีประชากรเยี่ยมเยือนอินเดียเพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นกว่า 55% ด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และมุ่งโปรโมตอินเดียให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางการแพทย์ โดยมี “เอกชน” เป็นผู้เล่นสำคัญ และความมุ่งหมายว่า ในอนาคต “รัฐบาล” จะลงสนามด้วย กับความหวัง “รายได้ใหม่” ที่นอกเหนือจาก “ร้านขายยาโลก”

แต่ก็อย่างที่รู้กัน… เวลานี้ “ภาพที่เกิดขึ้น” กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อินเดียหวังส่งออก กลับเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศที่แสนจะเกินต้าน ขาด “ออกซิเจน” อย่างหนักจนกลายเป็นภาวะวิกฤติ


แผนการเริ่มต้นกองทุนส่งเสริมทางเภสัชกรรมในการผลิตส่วนผสมยาภายในประเทศ งบประมาณกว่า 1 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 4.2 แสนล้านบาท ภายในปี 2566 อาจส่อสะดุด…

หรือแม้แต่ Pharma Vision 2020 ของรัฐบาลอินเดีย กับการก้าวขึ้นเป็น “ผู้นำโลก” ของการผลิตยา และการอนุมัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิต ที่หวังว่า งบประมาณ 6.94 หมื่นล้านรูปี หรือประมาณ 2.92 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นยอดขาย 5-20% พร้อมคาดการณ์ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า การบริโภคยาจะเติบโต 9-12% ก็อาจไม่ได้ตามเป้า ด้วยเพราะ “บุคลากร” ที่ต้องสูญเสียจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปไม่น้อย รวมถึงการขาดแคลนทางสาธารณสุขในแบบที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ:

  • หลังโควิด-19 ไทยอาจเหมือนฮ่องกง ห้องเล็กแถมแพง ซบชานเมืองนั่งรถเข้ากรุง
  • แห่กู้สู้โควิด! คลื่นลูก 4 ซัด หนี้สาธารณะท่วมโลก ประเทศกำลังพัฒนาอ่วม
  • วิกฤติ “คอนเทนเนอร์” ส่อยืดเยื้อถึงกลางปี สุดท้าย “ผู้บริโภค” รับภาระ
  • ขาด “แรงงานต่างด้าว” ธุรกิจเล็กแย่ ยอมเสี่ยงใช้ “คนลักลอบเข้า” ลดต้นทุน
  • หายจากโควิดแล้ว…ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา

อ่านเพิ่มเติม…