โควิดระลอก 3 ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ยากจะผงกหัว อาชีพอิสระ ค้าขาย เจ็บหนัก


โควิดระลอก 3 ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ยากจะผงกหัว อาชีพอิสระ ค้าขาย เจ็บหนัก

สกู๊ปไทยรัฐTHE ISSUE

ไทยรัฐออนไลน์

17 เม.ย. 2564 13:32 น.

บันทึก
SHARE

หลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดระลอก 3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง ล่าสุดวันที่ 17 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,547 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุเกิน 4 หมื่นรายไปแล้ว ทางรัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ไม่มีการล็อกดาวน์ หรือประกาศเคอร์ฟิว เหมือนช่วงการระบาดในรอบแรก แต่ผลกระทบเศรษฐกิจยังคงมีอยู่


ข่าวแนะนำ

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า มาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้น น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น คาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายได้ในอีก 1-2 เดือน แต่ในภาวะผู้ติดเชื้อที่จะลดลง สภาพเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่สองอาจไม่สดใสอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันโควิด ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวลดลง กระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง

นอกจากนี้ยังทำให้รายได้กลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายลดลง เพราะคนออกนอกบ้านน้อยลง และระมัดระวังการใช้จ่าย กระทบร้านค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และค้าปลีกอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นการบริโภคลดลง กระทบสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี บางกลุ่มธุรกิจอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น ร้านค้า/ส่งสินค้าออนไลน์ ร้านค้าขนาดเล็กที่รับบัตรสวัสดิการของรัฐ หรือรับชำระผ่านระบบเงินโอนตามมาตรการรัฐ และภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และยางพารา ซึ่งรายได้พนักงานน่าจะทรงตัวตามชั่วโมงการทำงาน หรืออาจไม่ลดลงมากนัก หากมีการรักษาระยะห่างมากขึ้น

“มาตรการป้องกันโควิดรอบนี้ น่าจะกระทบการบริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคค้าปลีก และภาคท่องเที่ยว ขณะที่คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาจไม่ได้รับผลกระทบแรงเท่ากลุ่มอื่น แต่เนื่องจากคนทำงานที่บ้านมากขึ้น คนเดินทาง หรือออกนอกบ้านน้อยลง มีผลให้ยอดขายลดลงตามจำนวนคน”

ขณะที่กลุ่มรับเงินโอนตามมาตรการภาครัฐ อาจกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะคนเลือกใช้บริการเพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มที่อาจไม่ได้รับผกระทบมากนัก แต่ก็ยังกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จึงลดการใช้จ่าย เช่น ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน หรือกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อส่งออก

ในมุมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง หากการระบาดคลี่คลายลงในเดือน พ.ค. และสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. ผลกระทบทางการบริโภคในประเทศไม่น่ารุนแรงเท่าการล็อกดาวน์ปีก่อน แต่น่าจะรุนแรงกว่ารอบเดือน ม.ค. จากปัจจัยสนับสนุนมีเพียงมาตรการรัฐและการส่งออก

“ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หลังปรับฤดูกาลเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เกิดการถดถอยทางเทคนิค แม้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองจะขยายตัวได้สูงเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนก็ตาม โดยเรากำลังปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย อาจขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.6%”

ส่วนเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 2% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 1.มาตรการป้องกันโควิด ควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว 2.มาตรการชดเชยผู้ขาดรายได้ เช่น เพิ่มเงินโอน และต่ออายุมาตรการที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 3.มาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางระบบสาธารณะ 4.ทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมาตรการเพิ่มเติมในการลดภาระดอกเบี้ย เช่น ลดค่าธรรมเนียม FIDF หรือลดดอกเบี้ย กนง.ในรอบการประชุมวันที่ 5 พ.ค. พร้อมเร่งอัดฉีดเงินกู้ให้ธุรกิจ อีกทั้งอาจเห็นการต่อมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งทางธนาคารน่าจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าให้รวดเร็วขึ้น.

อ่านเพิ่มเติม…