เปิดแผนกระจายฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศ รัฐ-เอกชนรวมพพลังฟื้นเศรษฐกิจ


เปิดแผนกระจายฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศ รัฐ-เอกชนรวมพพลังฟื้นเศรษฐกิจ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

3 พ.ค. 2564 06:01 น.

บันทึก
SHARE

Closed in: 45

การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในขั้น “วิกฤติ”

เพราะการระบาดกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่งอยู่ในภาวะ “เตียงเต็ม” จนต้องสร้างโรงพยาบาลสนามจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน หลายจังหวัดได้ยกระดับมาตรการป้องกันแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง มีคำสั่งประกาศ “เคอร์ฟิว” กำหนดเวลาห้ามออกจากบ้าน และการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้เม็ดเงินจากการใช้จ่ายจะหายไปเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ย่อลง 0.60%

ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ซึ่งเป็น “ความหวังเดียว” ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดยังล่าช้ามาก ล่าสุดเพิ่งฉีดได้เพียง 1.3 ล้านโดส จากเป้าหมาย 100 ล้านโดส


ทั้งนี้ ภายใต้การแก้ปัญหาแพร่ระบาดที่ยังสับสนอลหม่าน และแผนการฉีดวัคซีนที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม “คณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้ตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ” โดยนั่งบัญชาการด้วยตัวเองแบบ “Single Command”

และเพื่อให้ “นายกรัฐมนตรี” มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหาการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ วันถัดมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) เป็นการชั่วคราว โดยนายกรัฐมนตรีได้ยึดอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมายถึง 31 ฉบับ

วันถัดมา นายกรัฐมนตรีและคณะ หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อร่วมกันยกระดับการกระจายการฉีดวัคซีนให้เป็น “วาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด” ภายใต้ชื่อ “วัคซีน ทีม ไทยแลนด์”

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้ประมวลภาพแผนการจัดหา และกระจายการฉีดวัคซีนของรัฐบาล รวมทั้งสัมภาษณ์ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คีย์แมนคนสำคัญในการ

ผลักดันความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อให้การกระจายการฉีดวัคซีนรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด

รัฐเร่งจัดหา 100 ล้านโดส

ทั้งนี้ จากข้อสรุปล่าสุด รัฐยังคงจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับคนทั้งประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ครั้งที่ 6/64 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 พิจารณา พบว่า ประเทศไทยต้องการวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน หรือครอบคลุม 70% ของประชากร ซึ่งจะเพียงพอที่จะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้


โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายเริ่มฉีดให้ประชาชนทั่วไป เข็มแรกราวเดือน มิ.ย.64 และเข็มที่ 2 ตั้งเป้าหมายฉีดให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งจัดหาได้ 65 ล้านโดส จากผู้ผลิต 2 รายคือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ยังขาดอีก 35 ล้านโดส

กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอให้ ศบค.เห็นชอบการจัดหาวัคซีนให้หลากหลายทั้งชนิด และราคา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนเร็วที่สุด โดยเจรจาซื้อจากไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส สปุตนิก วี อีก 5-10 ล้านโดส จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส ซิโนแวค 5-10 ล้านโดส รวมถึงอาจซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม ฯลฯ หากขึ้นทะเบียนในอนาคต ซึ่งนายกฯสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม ผ่อนคลายกระบวนการอนุญาตให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้การขึ้นทะเบียนรวดเร็วขึ้น

ส่วนจุดให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน กำหนดเบื้องต้น 1,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 500-1,000 โดสต่อวัน หรือรวมทั้งหมดจะได้ 500,000-1 ล้านโดสต่อวัน ใน 1 เดือน (30 วัน) จะฉีดได้ 15-30 ล้านโดส และจะฉีดครบ 100 ล้านโดส ภายในเวลา 4-7 เดือน ใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปีพอดี

สำหรับในกรุงเทพฯ จะเร่งรัดการฉีดทั้งจุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล โดยหากมีจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาล รวม 100 แห่ง แต่ละแห่งฉีดได้ 1,000 โดสต่อวัน หรือรวมทั้งหมด 100,000 โดสต่อวัน ใน 1 เดือนจะฉีดได้ 3 ล้านโดส และถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกเดือน มิ.ย.นี้ จะฉีดได้ครบภายใน 3 เดือน หรือภายในเดือน ส.ค.นี้

ไทย-ต่างชาติได้สิทธิ์เท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ในการจัดหาวัคซีนนั้น “สนั่น” เล่าว่า ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนมีความตั้งใจดี จะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ และต้องการเร่งรัดการฉีดให้ได้เร็วที่สุดรองรับการเปิดประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมาย จึงได้ตั้งทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการจัดหา โดยพร้อมจ่ายเงินซื้อมาฉีดให้พนักงานเอง


แต่จากการที่ กกร.ได้พบนายกฯ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายกฯบอกว่าเอกชนสบายใจได้ ไม่ต้องจัดหาเองแล้ว รัฐบาลจะซื้อให้ทั้งหมด เพราะมีงบประมาณเพียงพอ และการจัดหาจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งไม่ต้องการให้เป็นภาระของเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 อยู่แล้ว ซึ่งล่าสุด รัฐบาลได้เจรจากับผู้ผลิตหลายบริษัทแล้ว และจะจัดหาเพิ่มเติมได้อีก 35 ล้านโดส จนครบ 100 ล้านโดสแน่นอน

“ท่านนายกฯบอกว่า ขอให้สบายใจได้ รัฐบาลจะออกหน้าเอง เพราะได้คุยกับจีน เพื่อซื้อซิโนแวคไว้แล้ว ซึ่งจีนก็ช่วยเพิ่มให้อีก 500,000 โดสทันที จะเข้ามาได้เดือนหน้า และยังคุยกับจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ไฟเซอร์, สปุตนิก วี คาดว่า จะเข้ามาได้ช่วงไตรมาส 3 หรือ 4 ปีนี้ และจะฉีดให้ได้ครบภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายแน่นอน”


นอกจากนี้ รัฐบาลยังยืนยันที่จะให้ชาวต่างชาติทุกคน ที่ทำงาน หรืออาศัยอยู่ในไทย ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนด้วย โดยสามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ที่แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ถ้าไม่ได้คุยกับท่านนายกฯ ก็จะเข้าใจไม่ตรงกัน อย่างในเรื่องวัคซีน หมอให้ความรู้ว่า วัคซีนซิโนแวค การฉีดแต่ละโดสต้องห่างกัน 4 สัปดาห์ เมื่อฉีดโดสแรกไปแล้ว ต้องเก็บเอาไว้ 4 สัปดาห์ เพื่อฉีดโดส 2 แต่ถ้าเราผลิตแอสตราเซเนกาได้เอง มีแผนการผลิตชัดเจน และมีวัคซีนทางเลือกอื่นๆเข้ามาอีก ก็สามารถระดมฉีดได้โดยไม่ต้องสำรองไว้ ซึ่งจะทำให้การฉีดเพิ่มขึ้นเท่าตัว และรวดเร็วมากขึ้น”


จัด 14 พื้นที่เอกชนฉีดให้คนกรุง

“สนั่น” ยังเล่าถึงการพบปะหารือกันระหว่างรัฐบาล และ กกร.ต่ออีกว่า ได้รายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าการทำงานของพวกเราในการสนับสนุนการกระจายการฉีดวัคซีน รวมถึงการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่นำร่อง

โดยภาคเอกชนได้แบ่งการทำงานเป็น 4 ทีม คือ ทีมสนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีน ทีมการสื่อสาร ทีมเทคโนโลยีและระบบ และทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งนายกฯได้สั่งการ

ให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ร่วมกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, เลขาธิการสภาพัฒน์, กกร., สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับภาคเอกชนทั้ง 4 ทีม เพื่อให้การจัดหา และกระจายวัคซีนเป็นระบบ เกิดผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด

สำหรับการทำงานของทีมสนับสนุนการกระจายวัคซีน ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ล่าสุด เอกชนเสนอให้ใช้พื้นที่สำหรับเป็นจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 66 แห่ง แต่ได้รับการอนุมัติจาก กทม. 14 แห่ง (ตามภาพ) โดยแต่ละจุดรองรับประชาชนได้ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้ว 20,500 คน หรือ 50,000 โดสต่อวัน ใช้เวลาเฉลี่ยต่อรายประมาณ 45 นาที คาดจะเริ่มฉีดได้เดือน มิ.ย.-ธ.ค.นี้ ส่วนต่างจังหวัดเตรียมไว้ 236 แห่ง

“ในแต่ละพื้นที่เอกชนจะจัดเตรียมอุปกรณ์และบุคลากรไว้ให้ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอที ปรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน เตียงสนาม โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เย็นเก็บวัคซีน อาสาสมัคร อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงต้องมีจุดสังเกตอาการ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลได้ภายในไม่เกิน 10 นาที อย่างเอสซีจี บางซื่อ สามารถส่งไปโรงพยาบาลบางโพได้ภายใน 7 นาที”


ส่วนระยะถัดไป ภาคเอกชนจะร่วมกับ กทม.จัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง และจะนำต้นแบบการทำงานของเอกชนร่วมกับ กทม.ในครั้งนี้ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ทำแผนการกระจายการฉีดวัคซีนร่วมกันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กทม.ยังได้เตรียมพื้นที่ฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง และโรงพยาบาลอื่นอีก 115 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

เดินหน้าสร้างเชื่อมั่นคนไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงประชาชนในจังหวัดท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังกังวลการฉีดอยู่มาก เพราะผู้ที่ฉีดไปแล้ว มีอาการไม่พึงประสงค์ และมีหลายกรณีค่อนข้างร้ายแรง


“สนั่น” บอกว่า นายกฯเป็นห่วงเรื่องนี้มาก จึงขอให้ภาคเอกชนประสานกับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความเชื่อมั่น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของวัคซีน เพื่อลดความวิตกกังวลในการฉีด เพราะเรามีทีมการสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจอย่างง่ายให้กับประชาชนได้

โดยภายใต้การทำงานของทีมการสื่อสาร ได้ตั้งคณะทำงานประกอบด้วย 20 บริษัทชั้นนำ เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE,Google, Facebook, VGI, CP เป็นต้น โดยเน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การสื่อสารที่เข้าใจง่าย และเชื่อมต่อกับแอปฯ “หมอพร้อม”

“ตอนนี้ คนไทยยังกล้าๆกลัวๆการฉีดวัคซีน และยังมีความรู้เกี่ยวกับวัคซีนน้อยมาก จึงต้องให้ความรู้อย่างง่ายๆ ว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์อย่างไร และวัคซีนแต่ละแบรนด์เหมาะสมกับคนวัยไหน ซึ่งท่านนายกฯก็พูดอย่างอารมณ์ดีว่ามาช่วยกันทำงานและช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นให้กับคนไทยกล้าฉีดให้มากขึ้น”


ส่วนในเรื่องของการลงทะเบียน “หมอพร้อม” การจองคิว และการติดตามผู้ฉีดวัคซีนนั้น นายกฯได้สั่งการให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งภาคเอกชนสามารถสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในส่วนนี้ได้เพราะเรามีทีมเทคโนโลยีและระบบ ซึ่งเราจะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำในการลงทะเบียน และจองคิวฉีด

ขณะนี้หลายบริษัทเสนอตัวว่ามีแอปพลิเคชันที่ใช้งานร่วมกับโรงพยาบาลสามารถจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น กลุ่มนายเลิศเป็นลักษณะการลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น Mobile Application ได้ หรือบริษัท QueQ ที่เสนอจะบริหารจัดการระบบคิว เพื่อเข้ารับการฉีด หรือ Grab ก็มีแอป ที่จะนำมาใช้บริการด้านการเดินทาง เป็นต้น

“สนั่น” ย้ำว่า ถ้ารัฐจัดหาวัคซีนได้ครบ 100 ล้านโดส และเริ่มทยอยฉีดได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 จะทำให้การระบาดคลี่คลาย กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจจะกลับมา การว่างงานไม่ถึง 100,000-150,000 คนอย่างที่ประเมินไว้ คนมีเงินใช้จ่าย เมื่อรวมกับผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จะทำให้จีดีพีไตรมาส 3 เติบโตได้ 3% ถ้าไตรมาส 4 ฉีดได้ครบทั้งหมด จีดีพีโตได้แน่ 4% และทั้งปี 64 ขยายตัวได้ 1.5-3%


“ดีใจที่ได้เห็นบรรยากาศความร่วมมือเกิดขึ้นเป็นเหมือนทีมไทยแลนด์พลัส โดยมีเอกชนเข้าไปร่วมทำงานกับรัฐ เพื่อทำให้คนไทยทั้งชาติได้ประโยชน์ร่วมกัน” สนั่นกล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ

อ่านเพิ่มเติม…