สิงห์ เอสเตท ซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ทุ่มงบลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม


สิงห์ เอสเตท ซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ทุ่มงบลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจการตลาด-ธุรกิจ

Singha Estate

7 พ.ค. 2564 07:17 น.

บันทึก
SHARE

“การซื้อนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่ง ในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”
— จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท

วันนี้ (6 พฤษภาคม) บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ได้ลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง

สำหรับการโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

ธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท โดย 510 ล้านบาทเป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่า “การซื้อนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่เราเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้เรามีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business”

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า “การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของเรา ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วนิคมอุตสาหกรรมคือหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งของเรา และการที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของเรา ก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ใน นิคมอุตสาหกรรม”

นางฐิติมา กล่าวต่อไปว่า “มากกว่าความลงตัวในเชิงกลยุทธ์แล้ว เรายังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ในขณะที่ ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%”


นางฐิติมากล่าวเพิ่มเติมว่า “นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา”

รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว โดยข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยภาคกลางของประเทศไทยมีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563

มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤติโควิด-19

บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าสามแห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท ทั้งนี้โรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สองและสาม เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท เปิดเผยว่าบริษัทมีเป้าหมายดันรายได้ต่อปี ให้เพิ่มขึ้นสามเท่า กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาสามปี

อ่านเพิ่มเติม…