มิจฉาชีพมากับโควิด กลโกงหลายรูปแบบ ลวงเหยื่อคนชอบความเสี่ยง ลงทุนน้อย


มิจฉาชีพมากับโควิด กลโกงหลายรูปแบบ ลวงเหยื่อคนชอบความเสี่ยง ลงทุนน้อย

สกู๊ปไทยรัฐ

ไทยรัฐออนไลน์

15 พ.ค. 2564 14:03 น.

บันทึก
SHARE

  • คดีฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ เกิดขึ้นอีก เมื่อหญิงสาววัยเพียง 30 ปี ตกเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ หลอกเหยื่อซื้อลอตเตอรี่ เพื่อไปขายต่อแบบกินหัวคิวกันหลายทอด จนมีผู้เสียหายกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,400 ล้านบาท
  • ย้อนไปในอดีตเคยเกิดการฉ้อโกงในลักษณะแชร์ลอตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่ง และฉ้อโกงประชาชนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะปี 2554 ทางดีเอสไอ ดำเนินคดีไปกว่า 10 คดี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน มีการชวนร่วมลงทุนโควตาลอตเตอรี่ในราคาทุน แลกกับผลประโยชน์กำไรงามๆ แต่กลับไม่มีลอตเตอรี่จริง เกิดความเสียหายหลายพันล้านบาท
  • หรือกรณีอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชักชวนกลุ่มอาจารย์และผู้หลงเชื่อ นำเงินร่วมลงทุนซื้อโควตาลอตเตอรี่ ตั้งแต่ช่วงปี 2553 จนถึงปี 2560 อ้างจะให้เงินปันผลร้อยละ 1 ต่อเดือน แต่กลับไม่มีการจ่ายเงินปันผล ครั้งนั้นมีผู้เสียหายกว่า 160 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,400 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

คดีล่าสุดเกิดที่ จ.ตราด หลอกโกงเงินจองลอตเตอรี่ มีผู้ตกเป็นเหยื่อตั้งแต่นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ และนักลงทุนรายย่อยในจังหวัดใกล้เคียง โดยตำรวจเชื่อว่าผู้ต้องหาอายุเพียง 30 ปี คงไม่สามารถดำเนินการฉ้อโกงที่ซับซ้อนได้เพียงลำพัง จะต้องมีผู้ร่วมขบวนการ หรืออยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน

วิธีการของขบวนการนี้ อาศัยในช่วงโควิดระบาด โดยตั้งเฟซบุ๊กชื่อ “บ้านรวยโชค” รับจองลอตเตอรี่ในราคาถูก และมีเครือข่ายทำหน้าที่กระจายโควตาลอตเตอรี่ เริ่มจากราคาใบละ 70 กว่าบาท ไปจนถึงใบละ 80 บาท ส่งขายรายย่อย กินหัวคิวเป็นทอดๆ ฟันกำไรใบละ 10-15 บาท สุดท้ายภาระตกอยู่ที่ประชาชนต้องซื้อในราคาใบละ 100 บาท และวิธีอันแยบยลนี้ ได้ดึงดูดความสนใจ จนมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก แต่สุดท้ายต้องสูญเงิน ลอตเตอรี่ก็ไม่ได้

แม้ในอดีตเคยมีผู้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลอตเตอรี่ จนเป็นข่าวโด่งดัง แต่ก็ยังมีผู้ถูกหลอกซ้ำๆ อีกไม่จบไม่สิ้น “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าเพราะคนที่ตกเป็นเหยื่ออาจรู้ไม่เท่าทันกลอุบายของคนร้าย และขณะเดียวกันอาจคิดว่ามีความเสี่ยงแต่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่จะได้รับ กล่าวคือ “เสี่ยงแต่คุ้ม”


นอกจากนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจเคยร่วมลงทุนกับผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาก่อน แต่ลงทุนไม่มาก และได้ผลตอบแทนจริง ตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อเหยื่อได้รับผลตอบแทนดังกล่าวแล้ว จึงหลงเชื่อ มีการลงทุนมากขึ้น พร้อมทั้งอาจชักชวนญาติพี่น้อง เพื่อน คนใกล้ชิดให้มาร่วมลงทุนด้วย เมื่อคนร้ายได้เงินก้อนใหญ่ ก็มักจะหลบหนีพร้อมเงินจำนวนมาก

ในกรณีอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ หลอกลวงเพื่อนๆ อาจารย์ เพราะผู้กระทำผิดอาศัยความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงเหยื่อ เพราะเคยทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ เคยเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง เคยได้รับรางวัลต่างๆ จึงทำให้เหยื่อไว้ใจ

“รูปแบบการหลอกลวงก็มักจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เหยื่อในช่วงแรกเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ เพราะหากเหยื่อหลงเชื่อ ไว้ใจมากขึ้น ก็จะนำเงินมาลงทุนจำนวนที่มากขึ้น ทำให้ได้เงินจำนวนมาก แล้วก็มักจะหลบหนีพร้อมกับเงินที่หลอกลวงทั้งหมด”


ระวังมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสช่วงโควิดระบาด หลอกเหยื่อ

ส่วนในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด มีคนได้รับผลกระทบจำนวนมากทั้งถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง และคนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ในขณะที่รายได้ลดน้อยลง ทำให้มิจฉาชีพอาศัยช่องว่าง และกลอุบายในการสร้างเรื่องราวหลอกลวงเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น แชร์ลอตเตอรี่ การหลอกลวงการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล หรือชักชวนร่วมลงทุนในรูปแบบอื่นๆ

ในช่วงสถานการณ์โควิด ผู้ที่มีรายได้ลดลง หรือถูกเลิกจ้าง ก็อาจหลงเชื่อการหลอกลวงของคนร้าย เช่น โฆษณาในเฟซบุ๊ก หรือโซเชียล มีเดีย ต่างๆ ว่าให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน แต่ต้องชำระค่าเอกสารให้บางส่วนล่วงหน้า หรือหลอกให้ร่วมลงทุนกับการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ เป็นต้น

“เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ มักชอบความเสี่ยง ชอบการทำงานน้อย หรือลงทุนน้อย แต่ได้รับผลตอบแทนสูง ดังนั้นคนร้ายจึงใช้จุดอ่อนตรงนี้ในการหลอกลวงเหยื่อ”

วิธีการสังเกตมิจฉาชีพ ให้ระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับผลตอบแทนผิดไปจากการทำธุรกิจแบบปกติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจจะมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

การจะร่วมลงทุนกับใครก็ตาม ควรตรวจสอบรูปแบบในการทำธุรกิจ หรือการลงทุนให้มีความแน่ใจ และให้พึงระลึกเสมอว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยงถึงแม้จะถูกกฎหมาย และเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้เช่นกัน.

ผู้เขียน : ปูรณิมา

กราฟิก : Varanya Phae-araya

อ่านเพิ่มเติม…