นายกฯ จ่อประชุม ศบศ.หาแนวทาง รับนักท่องเที่ยว นำร่อง “ภูเก็ต” พรุ่งนี้


นายกฯ จ่อประชุม ศบศ.หาแนวทาง รับนักท่องเที่ยว นำร่อง "ภูเก็ต" พรุ่งนี้

ข่าวการเมือง

ไทยรัฐออนไลน์

25 มี.ค. 2564 09:40 น.

บันทึก
SHARE

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ พร้อมนั่งหัวโต๊ะ ศบศ. เตรียมพิจารณาแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยว นำร่องจ.ภูเก็ต และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน พรุ่งนี้

วันที่ 25 มี.ค. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (คบศ.) เข้าร่วมการประชุม

ข่าวแนะนำ

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตรงจุด ในการแก้ไข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของมาตรการที่มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อนำมาประเมินผล และประกอบกับการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดหมายว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางความเป็นไปได้ ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะมีการพิจารณาในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และมีความพยายามที่จะช่วยพิจารณาแนวทางดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูง เช่น จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดอันดามัน สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าที่ประชุมจะได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการธุรกิจและการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดข้อจำกัดในการประกอบกิจการของคนต่างด้าว การทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะในสาขาเป้าหมาย และการปรับปรุงระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร เป็นต้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนของกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะต่อไป

อ่านเพิ่มเติม…