ชะตากรรมช้างอมก๋อย จากป่าสู่เมือง กลับมากิน “สารพิษ”


ชะตากรรมช้างอมก๋อย จากป่าสู่เมือง กลับมากิน "สารพิษ"

ข่าวทั่วไทย

ไทยรัฐออนไลน์

10 มี.ค. 2564 14:05 น.

บันทึก
SHARE

  • ช้างสัตว์ใหญ่คู่บ้านคู่เมืองของไทย ในอดีตถูกใช้นำทัพเข้าประจัญบาน เปรียบดั่ง “ขุนศึกคู่พระทัย” ปัจจุบันถูกคนนำมาฝึกใช้งานสารพัด กลายสภาพเป็น “ผู้ใช้แรงงาน” 
  • “อมก๋อย” อำเภอชายแดนทุรกันดาร ไกลสุดกู่ของเชียงใหม่ ช้างเลี้ยงที่นี่ ขึ้นชื่อ เรื่องถูกฝึกให้ไถนา แต่ในความเป็นจริง ช้างส่วนใหญ่ถูกเจ้าของพาไปหากินในต่างถิ่น กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ  

หลังโควิดฯ ระบาด นักท่องเที่ยวไม่มา งานไม่มี เจ้าของช้างต้องกลับบ้าน..

ข่าวแนะนำ

ช้างก็ต้องกลับบ้านด้วยเช่นกัน พื้นที่เดิม แต่ทุ่งนาป่าเขาที่เคยได้หากิน..เปลี่ยนไปมาก

ช่วงสุดสัปดาห์ ต้นเดือนมีนาคม เชียงใหม่ร้อนระอุ ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกควันไฟป่า.. 

ทีมงานศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยสมาคมกุศลสงเคราะห์เชียงใหม่ มีเหตุด่วนต้องรีบเร่งเดินทางไปยังหมู่บ้านโฆะผะโด๊ะ อ.อมก๋อย อยู่เกือบถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน หลังมีชาวบ้านแจ้งว่า พบ “ช้าง” กินสารเคมีฆ่าหญ้า.. 

เมื่อไปถึง พบว่าได้มีช้างที่กินสารเคมีเข้าไปมีทั้งหมด 7 เชือกด้วยกัน  เบื้องต้นมีอาการเป็นแผลไหม้ในปาก และลิ้น ทางสัตวแพทย์ได้ล้างแผล พร้อมให้ยาลดการอักเสบ โดยพบว่ามีช้าง 5 เชือก มีอาการหนัก จึงได้ช่วยกันนำช้างที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นรถ นำส่งไปโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC 

เร่งนำส่งโรงพยาบาลช้าง
เร่งนำส่งโรงพยาบาลช้าง

ที่โรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นำโดยนายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง เร่งช่วยเหลือช้างที่ถูกส่งตัวมาจากหมู่บ้านโฆะผะโด๊ะ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยทราบว่า ช้างได้ไปกินยาฆ่าหญ้า ชนิดพาราควอต ที่เกษตรกรเก็บไว้ในเพิงกลางป่า จนส่งผลกระทบต่อร่างกายช้าง 7 เชือก

เป็นช้างบ้าน 5 เชือก ช้างป่า 2 ตัว โดยช้างที่มีอาการหนัก 3 เชือก เป็นช้างบ้าน ได้ถูกเคลื่อนย้ายมายัง จ.ลำปาง ก่อน คือ ช้างพังโมพอนะ เพศเมีย อายุ 7 ปี และช้างสองแม่ลูก ชื่อ พังคำมูล เพศเมีย อายุ 10 ปี กับลูกช้าง พลายวิลลี่ เพศผู้ อายุ 1 ปี

ฉีด
ฉีด “สารสำคัญ” ที่ข้างหู เพื่อกำจัดพิษ

ช้างพังโมพอนะ อาการหนักสุด ปาก และลิ้น เป็นแผลพุพอง คาดว่ากินยาฆ่าหญ้าเข้าไปมาก รองลงมาที่อาการน่าห่วง คือ ลูกช้างพลายวิลลี่ เริ่มมีอาการซึม และปากเริ่มเป็นแผลพุพองเช่นกัน

ทางทีมสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลช้าง ได้รีบให้การรักษา ด้วยการให้สารน้ำสำคัญเข้าที่หลังใบหูของช้าง เพื่อให้ช้างมีร่างกายที่แข็งแรง เนื่องจากกินอาหารได้น้อยลง ให้ยาแก้อักเสบ และยาละลายพิษยาฆ่าหญ้าที่กินเข้าไป เพื่อป้องกันพิษภายในร่างกาย ที่จะไปเป็นอันตรายต่อตับ หัวใจ และไต ซึ่งจะทำให้อาการทรุดหนักลง

นายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง เปิดเผยว่า อาการทุกเชือกน่าห่วง ถือว่ายังไม่พ้นขีดอันตราย ต้องรีบให้การรักษา โดยเฉพาะการให้สารละลายพิษยาฆ่าหญ้า ที่ถือว่าเป็นชนิดที่รุนแรง ที่อาจไหลเข้าสู่ปอดทำให้ช้างหายใจลำบาก และจะเป็นสาเหตุทำให้ช้างล้มตายลง

“เหตุการณ์นี้เกิดกับช้างทั้งหมด 7 เชือก ซึ่งทางทีมคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และของโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ที่ไปร่วมติดตามอาการ และให้การรักษา ประเมินว่า จะต้องเคลื่อนย้ายมารักษาทั้งหมด โดยเริ่มจาก 3 เชือกนี้ก่อน ที่มีอาการมากสุด ส่วนอีก 4 เชือก เป็นช้างสองแม่ลูกกับช้างป่าที่ออกมาหากิน และกินยาฆ่าหญ้าเข้าไปด้วยเช่นกัน ก็ต้องเคลื่อนย้ายมา แต่ติดที่ช้างป่า ที่อาจจะเกิดอันตรายระหว่างเคลื่อนย้าย เพราะไม่คุ้นเคยกับคน จึงไม่สามารถนำออกมาได้  ซึ่งจะมีการหารือกัน รีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วน”

แกลลอนที่ถูกทิ้งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งยังมียาฆ่าหญ้าหลงเหลืออยู่
แกลลอนที่ถูกทิ้งเหล่านี้ ส่วนหนึ่งยังมียาฆ่าหญ้าหลงเหลืออยู่

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ช้างกินสารเคมี ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นที่อมก๋อย!!   

สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ได้เปิดภาพพื้นที่ทางการเกษตรที่อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เพิ่งไปสำรวจเมื่อเดือนที่ผ่านมา

พบว่า.. ที่พื้นที่การเกษตรหลายแห่งที่มีการทิ้งแกลลอนและบรรจุภัณฑ์ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง รวมทั้งปุ๋ยเคมี โดยที่บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังมีสารเคมีเหลือค้างอยู่ และช้างกินเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อีกสาเหตุ ปัจจุบันมีการผลิตสารเคมีที่ลดกลิ่นฉุนรุนแรง และแต่งกลิ่นให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น ทำให้ช้างที่แต่เดิมมีทักษะสัญชาตญาณที่รับรู้ถึงกลิ่นที่จะเป็นอันตราย ไม่สามารถแยกแยะกลิ่นได้ จนเป็นสาเหตุให้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีช้างในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเผลอสัมผัส และกินสารเคมีเข้าไปในร่างกายจนล้มป่วย ถึง 13 เชือก

ต้นกล้วยถูกนำมาเป็นอาหารให้ช้าง
ต้นกล้วยถูกนำมาเป็นอาหารให้ช้าง

“อย่างเช่นพังบัวบาน อายุ 8 ปี ที่ถูกส่งมาจาก อ.สะเมิง หลังกินสารเคมีเข้าไปจนเกิดแผลพุพองในช่องปาง สารเคมียังหยดลงไปบนเท้าหน้าด้านซ้ายทำให้ผิวหนังไหม้ กลายเป็นแผล ล่าสุดแม้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือน หรือนานเป็นปี กว่าแผลจะหายดี”

นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาถึงปัญหาการใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าที่มีความเกี่ยวเนื่องทับซ้อนกับพื้นที่เลี้ยงช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ช้างตกงานพากันกลับบ้าน เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอีก

“หวังว่าช้าง 5 เชือกจาก อ.อมก๋อย จะเป็นชุดสุดท้ายที่ต้องได้รับผลกระทบ” นายธีรภัทร กล่าว 


ขณะที่ข่าวล่าสุดจาก โรงพยาบาลช้างลำปาง..

เจ้าหน้าที่ แถลงว่า “การให้การดูแลรักษาช้างเลี้ยง จำนวน 8 เชือก ที่ประสบเหตุสัมผัสสารเคมี ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดเสียต่อร่างกายและสุขภาพของช้าง ปรากฏอาการบาดแผล ที่เป็นผลมาจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร มีการเคลื่อนย้ายช้าง มารักษาที่ จังหวัดลำปาง จำนวน 5 เชือก ผลการรักษาผ่านมา 3 วันพบว่า ช้างทั้ง 5 เชือก มีอาการดีขึ้นตามลำดับ”

นายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควาณิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง กล่าวว่าช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาล ช้างทุกเชือกมีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัด และไม่กินอาหาร นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างลำปาง ศูนย์การวิจัยช้างและสัตว์ป่า ได้ทำการรักษาช้างโดยการให้สารน้ำเพื่อขับสารพิษ ให้ยาลดการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกันและยาต้านอนุมูลอิสระในช้างทุกเชือก ตามแนวทางการรักษาช้างที่สัมผัสสารเคมีทางการเกษตรในกรณีที่แล้วมา

ภายหลังจากทำการรักษา พบว่าช้างทุกเชือกมีการตอบสนองต่อการรักษาดี สามารถกินน้ำและอาหารได้ ขับถ่ายปกติ โดยเฉพาะพังโมพอนะ มีอาการซึมลดลงจนสู่ภาวะปกติ สัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทำการติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดซ้ำ ประเมินผลการรักษา เพื่อประเมินผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตรที่อาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของช้างเป็นระยะๆ

“ถ้าหากผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายช้าง คาดว่าช้างจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ แต่อาจจะมีบางเชือกที่ยังคงต้องรักษา และดูแลจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ”

จากนี้ไป คงต้องจับตาดู จะมี “ช้าง” ไปสัมผัส หรือถึงขั้นกินสารพิษเข้าไปอีกหรือไม่ เพราะนับวัน การใช้สารเคมีในภาคเกษตรจะมีมากขึ้น

อดีตคือช้างศึก ปัจจุบัน ถูกใช้ในหลากหลายบทบาท

ขณะที่ “ช้าง” ที่ถูกนำไปตระเวนในแหล่งท่องเที่ยว ถูกนำกลับ “บ้าน” มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ท่ามกลางสิ่งแปลกปลอม รูป รส กลิ่น เสียง ที่ไม่คุ้นเคย

“ช้าง” สัตว์บกใหญ่ที่สุดในโลก จะใช้ชีวิตได้ยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม.. 

อ่านเพิ่มเติม…