ค้นพบซากฟอสซิลแฮโดรซอร์ ตระกูลของไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดใหม่ในญี่ปุ่น


ค้นพบซากฟอสซิลแฮโดรซอร์ ตระกูลของไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดใหม่ในญี่ปุ่น

ไลฟ์สไตล์ไลฟ์

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

12 พ.ค. 2564 12:01 น.

บันทึก
SHARE

แฮโดรซอร์ (hadrosaur) เป็นตระกูลของไดโนเสาร์ปากเป็ด จมูกแบน กว้าง ในปากมีฟันหลายร้อยซี่ เมื่อฟันหลุดออกไปฟันใหม่ก็จะงอกขึ้นตามและปรับให้เข้ากับการเคี้ยวที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งทักษะการเคี้ยวพืชกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความหลากหลายของแฮโดรซอร์ พวกมันอาศัยอยู่ในช่วงปลายยุคครีเตเชียสเมื่อกว่า 65 ล้านปีก่อน ปัจจุบันนี้มักพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลแฮโดรซอร์ในอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย

ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติจากหลายสถาบันในญี่ปุ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยฮอกไกโด และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเมธอดิสต์ ในสหรัฐอเมริกา สามารถระบุถึงซากฟอสซิลกรามล่าง ฟัน กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกไหล่ และกระดูกหาง ของไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบโดยนักล่าฟอสซิลสมัครเล่นในปี 2547 ฝังอยู่ในหินตะกอนอายุ 71-72 ล้านปีในเหมืองหินบนเกาะอะวะจิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ว่าเป็นประเภทและสายพันธุ์ใหม่ของแฮโดรซอร์ ตั้งชื่อว่ายามาโตซอรัส อิซานางิ (Yamatosaurus izanagii) ซึ่งมีความโดดเด่นด้วยการพัฒนาไหล่และปลายขา อันเป็นขั้นตอนวิวัฒนาการในการเปลี่ยนแปลงการเดินของวงศ์แฮโดรซอร์จากไดโนเสาร์ที่เดินด้วย 2 เท้าไปเป็นไดโนเสาร์เดินด้วย 4 เท้า

การค้นพบ ยามาโตซอรัส อิซานางิ ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการอพยพของแฮโดรซอร์ที่บ่งชี้ว่าพวกมันอพยพจากเอเชียไปยังอเมริกาเหนือ และแสดงขั้นตอนวิวัฒนาการของชีวิตขนาดยักษ์จากการเดินตัวตรงไปสู่การเดินบนขาทั้ง 4 ข้าง ที่สำคัญได้ให้ข้อมูลใหม่และก่อคำถามถึงไดโนเสาร์ในญี่ปุ่น เพราะไม่มีใครรู้ว่าไดโนเสาร์อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดยุคไดโนเสาร์ การค้นพบนี้จะช่วยเติมเต็มมุมมองว่าไดโนเสาร์อพยพระหว่าง 2 ทวีปอย่างไร.

(ภาพประกอบ Credit : Southern Methodist University)

อ่านเพิ่มเติม…