ความน่ากลัวโควิดสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายไวกว่าปกติ ทางเดินหายใจส่วนบน


ความน่ากลัวโควิดสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายไวกว่าปกติ ทางเดินหายใจส่วนบน

สกู๊ปไทยรัฐTHE ISSUE

ไทยรัฐออนไลน์

22 พ.ค. 2564 14:31 น.

บันทึก
SHARE

ในที่สุดโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 ได้รับการยืนยันจาก ศบค.แล้วว่า มีการระบาดในไทยภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง พื้นที่หลักสี่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ดุร้ายน่ากลัว เกรงว่าวัคซีนโควิดที่ไทยมีอยู่ จะป้องกันความรุนแรงของเชื้อตัวนี้ได้น้อยลง

กลายเป็นความกังวลให้กับคนไทย และทำให้กลุ่ม ”หมอไม่ทน” ออกมาเคลื่อนไหวในการล่ารายชื่อ ผ่าน Change.org ให้ผู้เกี่ยวข้องปลดล็อก เพื่อเปิดทางนำเข้าวัคซีนทางเลือกโดยด่วนที่สุด เพราะผ่านมาครึ่งปี ตั้งแต่ไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด มีเพียงวัคซีนของซิโนแวค และแอสตราเซเนกา เท่านั้น โดยฉีดครบ 2 เข็ม เพียงแค่ 1-2% ของประชากรเท่านั้น จากจำนวนวัคซีนที่จองมายังไม่เพียงพอ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดช่องทางการนำเข้าวัคซีนทางเลือกผ่านโรงพยาบาลเอกชน แทนการให้เอกชนซื้อวัควีนผ่านทางองค์การเภสัชกรรม และยกเลิกการควบคุมอำนาจบริหารจัดการไว้ตามลำพัง ก่อนที่จะสายเกินไป

ข่าวแนะนำ

ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีนเร็วที่สุดไม่ว่าเป็นชนิดใดก็ตาม เพื่อลดอาการติดเชื้อรุนแรงและการเสียชีวิต และประชาชนต้องมีสิทธิ เสรีภาพในการเลือกวัคซีนที่ดีที่สุดให้กับตนเองเช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลต้องรีบเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อวัคซีน ทำให้เป็นเรื่องโปร่งใส และเร่งเปิดทางวัคซีนทางเลือกอื่น เพราะความล่าช้า ทำให้มีคนตายมากขึ้น รัฐบาลต้องมีคำตอบให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ว่าเหตุผลที่เขาได้รับวัคซีนล่าช้าคืออะไร

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข้อมูลของทีมวิจัย มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ชี้ถึงผลวิจัยบ่งชี้ว่า แอนตี้บอดี้ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด สายพันธุ์ดั้งเดิม อาจอ่อนแอลงในการป้องกันสายพันธุ์ต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป ตั้งแต่ 6-12 เดือน ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด ยังคงมีความจำเป็นลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์อินเดีย


ไม่มีอะไรบอก สายพันธุ์อินเดีย จะไม่ติดเซลล์ในจมูก 

ด้านนักไวรัสวิทยาของไทย “ดร.อนันต์ จงแก้วว้ฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นส่วนตัว จากความเข้าใจที่มี มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่พบในไวรัสสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 ไม่ได้มีมากกว่า ไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงเพียง 40 ตำแหน่ง ในเกือบจะ 30,000 ตำแหน่ง จากระบบการตรวจจับไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ที่ตรวจมากกว่า 1 ตำแหน่ง ถูกออกแบบมาอย่างดีมาก และยังใช้ได้ดีที่สุด ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ อินเดีย และสิงคโปร์

จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนสไปค์ของไวรัสสายพันธุ์นี้ ไม่มีอะไรที่บอกได้ว่า ไวรัสจะไม่ติดเซลล์ในจมูก แต่ไปติดที่ปอด ในทางตรงกันข้าม การที่ไวรัสตัวนี้แพร่กระจายได้ไวกว่าปกติมากๆ สามารถบอกได้ว่าไวรัสจะแบ่งตัวได้ในทางเดินหายใจส่วนบน เพราะช่วยในการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี

“การที่บอกว่า swab ไม่พบ เพราะไวรัสหนีไปในปอดหมด เป็นอะไรที่ยังไม่สามารถเห็นด้วยได้ เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้มีเจตนาถกเถียง”


สายพันธุ์อินเดีย แพร่ไวกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 50%

ดร.อนันต์ ยังคงยืนยันสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 แพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ประมาณ 50% ซึ่งเป็นตัวเลขจริง “ไม่ใช่เฟกนิวส์” แต่เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และที่มาของตัวเลขนี้มาจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ ที่มีแพทย์ นักระบาดวิทยา นักไวรัสวิทยา ระดับแนวหน้าของประเทศรวม 39 คน โดยในบันทึกการประชุมระบุว่า สายพันธุ์อินเดียแพร่ไวกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และมีแนวโน้มสูงจะแพร่ได้ไวกว่าถึง 50% คาดว่ากำลังเขียนงานวิจัยตีพิมพ์ออกมา

“คิดว่าในบริบทของอังกฤษ ที่มีวัคซีนกันเยอะแล้วไปถึง 50% หวังว่าในบริบทของอินเดียที่เคสพุ่งสูงขึ้น คงไม่ต่างกันมากกับอังกฤษ”


ซิโนแวค ฉีดผู้ป่วยอายุมาก ประสิทธิผลยิ่งลดลง

ส่วนการใช้วัคซีนซิโนแวค ในผู้สูงอายุ ยอมรับตอนแรกดูเหมือนจะลังเล แต่ด้วยสถานการณ์บังคับเราจึงต้องใช้ และข้อมูลการป้องกันอาการป่วยจากโควิดในผู้สูงอายุมีไม่มาก โดยข้อมูลจากบราซิลที่เพิ่งเปิดเผยออกมาจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่อายุเกิน 70 ได้รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม และ 2 เข็ม ในเมืองที่พบไวรัสสายพันธุ์น่ากังวลของบราซิล มากที่สุด ซึ่งไม่ได้แบ่งย่อยอาการหนักเบา

จากข้อมูลภาพรวมประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค สำหรับผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 70 ปี พบว่าช่วงระยะเวลา 0-13 วัน หลังฉีดเข็มแรก มีประสิทธิภาพ 2.5% และ 28 วันเป็นต้นไป มีประสิทธิภาพ 10.5% ส่วนการฉีดหลังเข็มสอง ช่วงระยะเวลา 0-13 วัน มีประสิทธิภาพ 18.2% ช่วง 14 วันเป็นต้นไป ประสิทธิภาพ 41.6% และ 28 วันเป็นต้นไป ประสิทธิภาพ 49.4%


เมื่อแตกตามอายุ จะพบว่าอายุยิ่งสูงประสิทธิผลวัคซีนหลังฉีดเข็มสองจะยิ่งลดลง โดยอายุ 70-74 ปี อยู่ที่ 61.8% อายุ 75-79 ปี อยู่ที่ 48.9% อายุ 80 ปี ขึ้นไป อยู่ที่ 28% ซึ่งเป็นตัวเลขวัดการติดเชื้อ แต่ไม่ได้แบ่งอาการหนักเบา.

ปฏิบัติการไทยรัฐฝ่าวิกฤติโควิด-19


อ่านเพิ่มเติม…