คนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 16 ล้านสิทธิ์ เปิดลงทะเบียนรายใหม่ภายในเดือน พ.ค.


คนละครึ่งเฟส 3 เพิ่ม 16 ล้านสิทธิ์ เปิดลงทะเบียนรายใหม่ภายในเดือน พ.ค.

เศรษฐกิจเศรษฐกิจ-นโยบาย

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

7 พ.ค. 2564 07:15 น.

บันทึก
SHARE

“คลัง” เร่งโอนเงิน “เราชนะ-เรารักกัน” เพิ่มคนละ 2,000 บาท พ.ค.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ จ่อเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส 3” อีก 16 ล้านสิทธิ์ เดือน พ.ค.นี้ ขณะที่บทสรุปโครงการ “ยิ่งใช้-ยิ่งได้” คนละ 7,000 บาท อาจเป็นการคืนเงินค่าสินค้า ย้ำประชาชนคิดให้ดีก่อนใช้สิทธิ ใช้ได้แค่ 1 คน 1 โครงการ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดมาตรการเยียวยาประชาชนกรณีโควิด-19 เพิ่มเติมในที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า โดยมาตรการเยียวยาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ มี 2 โครงการ คือ โครงการ “เราชนะ” กลุ่มเป้าหมาย 32.9 ล้านคน และ โครงการ “ม.33 เรารักกัน” กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 9.29 ล้านคน โดยรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินให้อีกคนละ 2,000 บาท และโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

ข่าวแนะนำ

ส่วนมาตรการที่เหลือ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการมาตรการเยียวยาช่วยเหลือและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ใน 4 มาตรการ ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จะประกอบด้วยโครงการแรก “คนละครึ่ง เฟส 3” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 31 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ที่เคยได้สิทธิ์ ในโครงการคนละครึ่งเฟส 1 และ เฟส 2 จำนวน 15 ล้านคน โดยกลุ่มนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิ์คนละครึ่งอีก 16 ล้านคน จะต้องลงทะเบียนใหม่ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนภายในเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายจะเหมือนเดิม คือ รัฐบาลจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชัน เป๋าตังให้วันละ 150 บาท ทุกวันจนครบ 3,000 บาท ขณะที่ประชาชนก็ต้องโอนเงินเข้าเป๋าตังด้วยเช่นกันเท่ากับจำนวนที่รัฐโอนให้ ซึ่งเงินที่จ่ายออกไป ก็จะเป็นคนละครึ่ง

ขณะที่โครงการที่ 2 คือ การให้เงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเป้าหมาย 13.65 ล้านคน และโครงการที่ 3 เพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ กลุ่มเป้าหมาย 2.5 ล้านคน โดยรัฐบาลจะโอนเงินเพิ่มให้เดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน สุดท้ายโครงการที่ 4 หรือโครงการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้” กลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีกำลังซื้อหรือผู้มีรายได้สูง นำเงินมาใช้จ่ายในร้านค้าหรือร้านอาหารที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher สูงสุด 7,000 บาทต่อคน ซึ่งจะเป็นลักษณะของการให้เงินคืนจากการซื้อสินค้าในอัตรา 10-15% อยู่ระหว่างการหาข้อสรุป เช่น ใช้จ่าย 10,000 บาท จะได้วงเงินคืน 1,000-1,500 บาท โดยจะได้เงินโอนคืนเข้าแอก “เป๋าตังค์” ในอัตราสูงสุดไม่เกินคนละ 7,000 บาท อย่างไรก็ตาม รูปแบบโครงการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้” ยังไม่ชัดเจน ยังต้องขอศึกษารายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะต้องเลือกรับความช่วยเหลือผ่านโครงการใดโครงการหนึ่งระหว่างคนละครึ่งกับยิ่งใช้ยิ่งได้ เพียง 1 โครงการเท่านั้น โดยมาตรการเยียวยารอบของการฟื้นฟูนี้ ถือเป็นการช่วยเหลือที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุดถึง 51 ล้านคน ใช้งบประมาณรวมกว่า 225,500 ล้านบาท เกิดเงินหมุนเวียน 473,000 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ที่ออกมา ถือว่าทันเหตุการณ์เพราะขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนและเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ 100 ล้านโดสในสิ้นปี นับเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเร็วขึ้นได้อีกก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ว่าจะไม่ปลอดภัย จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งสร้างความรู้และความเข้าใจถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 ได้นำคณะกรรมการหอการค้าไทย เข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อหารือแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยได้ขอให้มีข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมกำหนดมาตรการการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจควบคู่ไป เช่น ปรับลดอัตราภาษีป้ายที่มีอัตราการจัดเก็บใหม่ หรือยกเว้นการจัดเก็บออกไปก่อน 1- 2 ปี ขณะเดียวกัน หอการค้ายังขอให้มีการเข้มงวดการอนุญาตสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงมาก รวมถึงเข้มงวด ตรวจตราการจัดกิจกรรมงานรื่นเริง งานที่มีการรวมตัวจำนวนมาก พร้อมขอให้ลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน และผู้ควบคุมดูแลอย่างจริงจัง โดย พล.อ.อนุพงษ์รับข้อเสนอ และพร้อมรับจะขับเคลื่อนภารกิจเร่งฉีดวัคซีนร่วมกัน.

อ่านเพิ่มเติม…