ขุมทรัพย์ในกระสอบเสื้อมือสอง เสื้อวง เสื้อวินเทจ แรร์ไอเทม ราคาแพงกว่าทอง


ขุมทรัพย์ในกระสอบเสื้อมือสอง เสื้อวง เสื้อวินเทจ แรร์ไอเทม ราคาแพงกว่าทอง

ข่าวเศรษฐกิจ

ไทยรัฐออนไลน์

13 มี.ค. 2564 11:36 น.

บันทึก
SHARE

  • พูดคุยกับ โย-โยธิน พูนสำโรง เจ้าของร้านเสื้อมือสอง “Knowwhere Studio” 
  • เสน่ห์เสื้อมือสอง เสื้อวินเทจ ความขลังที่ไม่มีวันตาย 
  • เสื้อบางตัว เรียกได้ว่าเป็น แรร์ไอเทม ของหายาก ราคาแพงกว่าทอง
     

“เสื้อยืดมือสอง NEVER DIE” นี่เป็นเหตุผล ที่เจ๊ดาเคยได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อถามเพื่อนๆ ที่ชอบซื้อเสื้อผ้ามือสองว่า ทำไมถึงหลงใหล และยอมจ่ายเงินซื้อเสื้อเก่ามาใส่ ทั้งที่บางตัวมีรอยเปรอะเปื้อน หรือแม้กระทั่งรอยขาด

ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับ “โย” โยธิน พูนสำโรง หนุ่มผู้หลงใหลในเสื้อผ้ามือสอง เสื้อวินเทจ สั่งสมประสบการณ์ บวกกับแนวคิด ที่ต้องก้าวนำคนอื่นหนึ่งก้าวเสมอ จากเด็กหน้าร้าน จนมีร้านของตัวเอง ที่ชื่อว่า “Knowwhere Studio”

ข่าวแนะนำ


เสื้อมือสอง ของบริจาค ที่มีค่ามากกว่าทอง

สำหรับเสื้อมือสองนั้น โย เล่าให้เราฟังว่า ส่วนใหญ่เป็นเสื้อที่มาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกส่งต่อไปยังประเทศที่ยังมีความต้องการเสื้อผ้า ทั้งในโซนแอฟริกา เอเชีย และประเทศอย่างปากีสถาน และเมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ มีจำนวนมากกว่าความต้องการของคนในประเทศนั้นๆ ทำให้เกิด “นายทุน” ที่มาประมูลซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้ เพื่อนำไปอัดเป็นมัด ส่งขายไปยังประเทศต่างๆ อีกทอดหนึ่ง

ซึ่งเสื้อผ้ามือสองในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศปากีสถาน และกัมพูชา ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่า ในแต่ละมัดนั้นมีเสื้ออะไร แบบไหนบ้าง ถ้าโชคดี บางมัดอาจจะเจอ “หัวผ้า” ที่หมายถึงเสื้อมีราคา เป็นที่ต้องการ ขายได้ราคาแพง หรือปนมาด้วย “เสื้อน้ำสอง” เสื้อที่ไม่สามารถตั้งราคาขายต่อได้ และ “เสื้อน้ำสาม” เสื้อที่เอาไปขายเลหลังตัวละบาท ยังขายไม่ออก

จุดเริ่มต้น สนใจเสื้อผ้าแนววินเทจ เสื้อมือสอง

โย เล่าว่า ย้อนกลับไปประมาณ 12 ปีที่แล้ว เริ่มจากการฟังเพลงก่อน จากนั้นก็ไปหาซื้อเสื้อวง หรือศิลปินที่เราชอบ ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่า เสื้อวง หรือเสื้อวินเทจของแท้ดูกันอย่างไร พอซื้อมาแล้ว ก็มานั่งคิดว่า แล้วจะทำอย่างไร ที่จะทำให้รู้ว่า เสื้อมืองสองที่เราซื้อมา เป็นของแท้ หรือปลอม

กระทั่งมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่รู้จัก ชวนมาทำงานร้านเสื้อมือสอง ที่สวนจตุจักร โดยทำเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ อยู่ประมาณ 3 ปี ทำให้เราซึมซับ และรู้วิธีการดูเสื้อผ้ามือสอง จากนั้นก็เริ่มที่จะซื้อมา ขายไป เนื่องจากเราไม่มีต้นทุน ซื้อมาตัวละ 100-150 บาท นำมาขายต่อตัวละ 500 บาท ก็ได้กำไรแล้ว


เสน่ห์ของเสื้อมือสอง เสื้อวินเทจ

ขอแยกออกเป็น 2 ส่วน ถ้ามองในแง่ของธุรกิจ คือ ต้นทุนต่ำ บางตัวซื้อมา 30 บาท 50 บาท แต่นำมาขายได้หลักพัน แต่ถ้าเป็นเสื้อมือหนึ่ง เราไปรับมา 100 บาท เราขายได้แค่ 199 กำไรแค่เท่าตัว แต่เสื้อมือสอง ทำกำไรได้สูง 1,000-3,000% มันสามารถทำมูลค่าได้มากกว่า ทุนที่เราจ่ายไป

แต่ถ้าในแง่ของ นักสะสม มันให้คุณค่าทางจิตใจ เราไม่รู้เลยว่า คนที่ใช้มาก่อนหน้า ผ่านอะไรมาบ้าง อย่างรอยเลอะต่างๆ มันช่วยสร้างเสน่ห์ให้ตัวเสื้อเอง บางตัวที่ผมมี เชื่อว่าในประเทศไทย มีไม่เกิน 5 ตัว

กระแสเสื้อวง เสื้อวินเทจ ความชอบที่ไม่มีวันตาย

โย บอกว่าช่วงนี้เป็นไทมิ่งของเสื้อวง ที่กลับมาฮิตอีกครั้ง ถ้าถามว่าเพราะอะไร คนถึงยอมจ่ายเงินราคาแพง เทียบเท่าแบรนด์เนม เพื่อแลกกับเสื้อวงมือสอง ก็มองว่าส่วนหนึ่งมาจากการใส่ตามดารา อาทิ ชมพู อารยา ซึ่งเขาใส่มานานแล้ว หรือจะเป็น ลิซ่า แบล็กพิงก์ เสื้อวงบางตัว เมื่อก่อน ราคา 500 บาท ยังขายยาก แต่ตอนนี้ ถ้าขาย 2,500 บาท มีแต่คนแย่งกัน

อีกเหตุผล โย เชื่อว่า เป็นเพราะคนที่มีกำลังซื้อหลายต่อหลายคน ที่เคยหอบเงินเข้าร้านแบรนด์เนม แต่พอหยิบมาใส่กลับพบว่า เดินไปทางไหน ก็มีคนที่ใส่ซ้ำแบบเดียวกัน แต่หากนำเงินจำนวนนั้นมาซื้อเสื้อวินเทจ ที่มีเพียงไม่กี่ตัวในประเทศไทย ใส่เดินไปทางไหน ก็แทบจะไม่เจอว่า มีคนใส่ซ้ำ

ซึ่งความหมายของเสื้อวินเทจ จะเป็นเสื้อที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ Deadstock (เสื้อที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน) มาพร้อมป้าย หีบห่อ หรือเสื้ออะไรก็แล้วแต่ อย่างตอนนี้ปี 2021 ดังนั้น เสื้อที่ผลิตตั้งแต่ปี 2001 ลงไป ก็คือ เสื้อวินเทจ แต่เสื้อวง ถ้าอยู่ในปี 2010 จะเป็นได้แค่เสื้อมือสอง ไม่ใช่เสื้อวินเทจ แต่ก็สามารถขายได้ราคาเช่นกัน

ถ้าถามผมว่า มันจะกลายเป็นแค่กระแส คนฮิตสักพักแล้วหายไปไหม สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาในวงการเสื้อมือสอง ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่สำหรับผมที่อยู่ตรงนี้มานาน ก็คงอยู่แบบนี้ต่อไป เพราะตนเชื่อว่า “เสื้อวินเทจ มันไม่มีวันตาย”


ช็อปเสื้อมือสอง วินเทจ จ่ายเงินทั้งที ต้องได้ของแท้

สำหรับเสื้อวินเทจ โย อธิบายว่า เราจะต้องดูที่ป้าย บริเวณคอเสื้อ ส่วนใหญ่ประมาณ 80% Made in USA ถัดมาต้องดูที่ตะเข็บเสื้อ ถ้ายุคต้นปี 90 ลงมาถึง 70 เสื้อจะเย็บแบบตะเข็บเดี่ยวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชายเสื้อ หรือแขนเสื้อ แต่ถ้าเป็นเสื้อปี 90 ขึ้นไป จะเริ่มมีเสื้อตะเข็บคู่ ถ้าเป็นเสื้อวง ก็จะมีบอกชัดเจนว่าเป็นวงใด ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

แต่ โย ก็ยอมรับว่า ตอนนี้การดูแค่ป้าย และตะเข็บ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้ของแท้ เพราะมีพ่อค้าหัวใส ที่นำเสื้อเก่าที่เป็นเสื้อยืดสีพื้น ในปี 1980-1990 มาสกรีนลาย จากนั้นก็นำไปหลอกขายว่าเป็นเสื้อวินเทจ นี่คือสิ่งที่มือใหม่ที่คิดจะหันมาเล่นเสื้อวินเทจต้องระวัง

ส่วนใครที่ชอบซื้อของออนไลน์ ผมแนะนำว่า ไม่อยากให้รีบตัดสินใจ เพราะอาจเสียเงินเปล่า ซึ่งถ้าเป็นร้านที่มีจรรยาบรรณ เขาจะบอกตรงๆ ว่า เสื้อของแท้หรือปลอม

ฮิตเปิดกระสอบ ได้ฟีลแกะกล่องสุ่ม

โย ยอมรับว่า ฟีลแอบคล้ายกัน สำหรับการเปิดกระสอบ หรือมัดเสื้อมือสอง เพื่อหาแรร์ไอเทม กับการซื้อกล่องสุ่มมาเปิด แต่ก็ยังมองว่า กล่องสุ่มคุ้มค่ากว่า เพราะการเปิดกล่องสุ่ม ของที่เราได้มา มีราคามากกว่าเงินที่เราจ่ายไปแน่ๆ ซึ่งแม้จะได้ของไม่ถูกใจ แต่ก็ถือว่าคุ้มราคา

แต่ถ้าเป็นการเปิดกระสอบ หรือเปิดมัดเสื้อมือสอง ลงทุนซื้อมัดที่ราคาเป็นหมื่น เปิดมาอาจจะไม่เจออะไรเลยก็ได้ ซึ่งถ้าถามผมว่า มือใหม่ ควรที่จะซื้อเสื้อมาเป็นกระสอบ หรือเปิดมัดไหม สำหรับผม ไม่เอาแน่นอน เพราะสมัยนี้ เมื่อเสื้อมือสองมีราคา ของดีมักจะโดนตัดตั้งแต่ต้นทาง กว่าจะผ่านไปยังประเทศที่สอง ที่สาม มาถึงไทยก็กลายเป็นหางผ้าที่ไม่มีราคา ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ใครบริจาคมาอย่างไร ก็จะอัดเป็นมัดส่งต่อไปยังประเทศที่ต้องการทันที บางกระสอบเปิดมามีหัวผ้าทั้งลูก ซึ่งมันคือ เสน่ห์ของกระสอบเสื้อมือสองที่หายไป


3 อันดับ มือสองมีราคา ที่ “Knowwhere Studio”

โย พาเราเดินไปดูเสื้อมือสอง ที่มีราคาสูง 3 อันดับของร้าน “Knowwhere Studio” ซึ่งอันดับแรก เป็นเสื้อแบรนด์ Stussy ผลิตในช่วงปี 80 จุดเด่นอยู่ที่ป้ายเสื้อตัวนี้ ไม่ใช่ป้ายของแบรนด์ Stussy เนื่องจากเป็นเสื้อที่ผลิตในยุคแรกตั้งแต่การเริ่มสร้างแบรนด์ ด้วยเพราะเงินทุนที่ยังไม่เยอะมาก ทำให้ Stussy ซื้อเสื้อสีพื้นจากบริษัทอื่นมา จากนั้นนำมาสกรีนลายเต็ม ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง โดยผลิตจำนวนน้อย ทำให้กลายเป็นของหายาก และมีราคาสูง

ซึ่งตัวนี้ โย บอกว่า ซื้อมาจากตลาดที่มาเลย์ ในราคาตัวละ 7,000 บาท เชื่อว่าในประเทศไทยมีไม่เกิน 3 ตัว โดยเมื่อสิบปีก่อน มีชาวญี่ปุ่นมาขอซื้อในราคา 20,000 บาท แต่ตนยังไม่ยากขาย และเมื่อถามว่าตอนนี้ตั้งราคาไว้ที่เท่าไร โย บอกว่า 99,000 บาท เพราะเป็นไซส์เล็ก แต่ถ้าเป็นไซส์ L หรือ XL ไซส์ที่เป็นความต้องการของตลาด ราคาก็อาจจะพุ่งไปได้ถึง 120,000-150,000 บาท

อันดับ 2 เป็นเสื้อ “สไปเดอร์แมน” ป้าย Fruit of the Loom ที่ผลิตในปี 1992 สภาพใหม่มาก ราคา 45,900 บาท จุดเด่นของเสื้อตัวนี้ อยู่ที่โอเวอร์ปรินท์ หรือเมกาปรินท์

ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เสื้อมือสองที่มีราคาแพงที่สุด อันดับต้นๆ ผมยกให้มาร์เวล คอมมิก เนื่องจากคนอเมริกัน เขาโตมากับยุคของมาร์เวล ก็จะคลั่งไคล้เสื้อมาร์เวลเป็นพิเศษ เคยมีชาวต่างชาติมาขอซื้อเสื้อลักษณะนี้กับเพื่อนผม ในราคา 400,000 บาท เขาก็ไม่ขาย ทั้งที่ซื้อมาแค่ 10,000 บาท

อันดับ 3 เป็นเสื้อ Akira อะนิเมะสัญชาติญี่ปุ่น ราคา 25,000 บาท จุดเด่นที่ทำให้เสื้อตัวนี้มีราคา คือ ส่วนใหญ่คนจะซื้อเก็บเป็นคอลเลกชั่นหมดแล้ว ดังนั้น เสื้อที่หลงอยู่ในตลาดมือสอง ก็จะมีจำนวนน้อยลง และทำให้หายากขึ้น ซึ่งถ้าตัวนี้เป็นไซส์ใหญ่ ก็อาจจะอัปราคาขึ้นได้อีก




เสื้อมือสอง ราคาขาขึ้น ทะยานกว่าหุ้น

ในมุมมองของ โย มองว่า เสื้อมือสอง มีราคาขาขึ้นมากกว่าหุ้น เมื่อก่อนต้องรอให้ครบรอบ 20 ปี ราคาเสื้อวินเทจถึงจะขยับ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเคยขายเสื้อตัวหนึ่งไปเมื่อต้นปี 63 ราคา 45,000 บาท พอมาปลายปี ราคาเสื้อตัวนี้ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 120,000 บาท ที่ราคาปรับสูงขนาดนี้ ก็เพราะนักเล่นหน้าใหม่ แต่เมื่อวันใดที่เสื้อตัวนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจ ราคาก็อาจจะขยับลงมา ซึ่งราคาเสื้อมือสอง มักตั้งตามความพอใจ ถ้าเป็นเสื้อที่หายากมากๆ จะตั้งราคาสูงเลยก็ได้

จริงๆ ตอนนี้ เสื้อยุค 90 ค่อนข้างมีราคาแพงจนน่าตกใจ ถ้าย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน เสื้อยุค 90 ที่แขวนอยู่หน้าร้านที่สวนจตุจักร ราคาก็จะมีตั้งแต่ 300-500 บาท แพงสุดคือ 1,000 บาท แต่ตอนนี้บางตัวที่เป็นลายหายาก ราคาถูกสุด ก็ตกตัวละ 30,000 บาทแล้ว ที่เป็นแบบนี้ เพราะดีมานด์ ซัพพลาย เมื่อมีคนเข้ามาในวงการนี้เยอะขึ้น ก็ต้องแย่งชิง ใครหาซื้อได้ จะอัปราคาขายต่อ ก็ไม่ผิด เนื่องจากมีคนต้องการจำนวนมาก


จากเด็กร้านเสื้อ สู่เจ้าของร้าน “Knowwhere Studio”

ย้อนไปประมาณ 5-7 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังทำงานประจำ อาศัยเงินเดือนอย่างเดียวไม่พอ แฟนก็ให้ไอเดีย เรามีความรู้เรื่องเสื้อมือสองอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองขายดู เราจึงเริ่มลองขายในเฟซบุ๊กหลังเลิกงาน เสาร์-อาทิตย์ ก็ขับรถไปตามตลาดนัดต่างจังหวัด เพื่อไปหาซื้อเสื้อมือสองที่เป็นน้ำสอง น้ำสาม ของคนอื่น แต่อาจจะเป็นหัวผ้าของเรา ซึ่งแขวนขายตามราว ตัวละ 30-50 บาท มาอัปราคาขายอีกทอดหนึ่ง กำไรต่อทุนไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีทุนประมาณหนึ่ง จึงลาออกจากงานประจำ แล้วมาทำตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบ มันสามารถทำเป็นอาชีพได้

ซึ่งหลักของผม คือ จะไปคัดหัวผ้าของพ่อค้าที่เปิดกระสอบ มาขายอีกทอดหนึ่ง อย่างล่าสุด ผมไปภาคใต้ หรือโรงเกลือ ที่เขาจะเปิดวันหนึ่ง 10-20 ลูก แล้วคัดหัวผ้าแยกออกมา ซึ่งผมก็ยอมจ่าย เพื่อให้มีของมาขายหน้าร้าน


ร้าน “Knowwhere Studio” เป็นชื่อที่แฟนตั้งให้ หมายความว่า รู้ว่าร้านอยู่ที่ไหน ซึ่งร้านที่สะพานควายแห่งนี้ ถือเป็นสาขาที่เกิดช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรก ตอนนั้นผมนำเงินที่มีอยู่ทั้งหมดมาลงทุนกับร้าน ร้านนี้ ยังคิดอยู่เลยว่าจะทำอย่างไรดี แต่ถอยไม่ได้ ก็ต้องลุย ซึ่งหลังจากปลดล็อก กลับพบว่า ผลตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าหน้าใหม่ก็เยอะมากขึ้นด้วยเช่นกัน เรียกว่า ใช้เวลาไม่นาน ก็ได้เงินทุนที่นำมาลงทุนเปิดร้านคืน

ซึ่งตั้งแต่การขายในคอนโดฯ ของตัวเอง ขายออนไลน์ กระทั่งมีร้าน “Knowwhere Studio” ผมเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ผมอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ คือ เรื่องของอิมเมจร้าน จะต้องดูดีตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดร้าน ซึ่งได้ไอเดียมาจากร้านที่ญี่ปุ่น การถ่ายภาพสินค้า โพสต์ขายในออนไลน์ ต้องจัดวางองค์ประกอบให้ดี หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย อย่างการซักเสื้อมือสอง

นอกจากนี้ ผมมักชอบที่จะคิด และทำอะไรนำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าวเสมอ ในอนาคต อาจจะเปลี่ยนร้านให้เป็นไพรเวต สโตร์ เปิดแค่เดือนละครั้ง แต่มีของมาให้เลือกซื้อแบบฟูลออปชัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังไม่มีใครเคยทำ ซึ่งคนไทยชอบอะไรที่แปลก ใหม่ อยู่แล้ว

สำหรับ “Knowwhere Studio” อยู่ที่ สะพานควาย เปิดตั้งแต่บ่ายโมง จนถึง 4 ทุ่ม ปิดทุกวันจันทร์ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในอินสตาแกรม แต่ถ้าเป็นสาขาที่สยามพารากอน เปิดทุกวัน.

ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์ 
ภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ
กราฟิก : Theerapong Chaiyatep



อ่านเพิ่มเติม…