แบบไหนคุ้มกว่า ใช้มือถือยาว ๆ vs เปลี่ยนใหม่ทุกปี

เราอาจจะเคยได้ยินว่า ถ้าใช้มือถือให้คุ้มทั้งที ก็ต้องเลือกแพง ๆ ใช้ได้นาน ๆ เอาให้พังก่อนถึงจะเปลี่ยนใหม่ และเราก็มักจะเคยได้ยินว่า ซื้อมือถือทุกปีนั้นไม่คุ้ม และเปลืองเงินมาก ๆ แต่แล้วทำไมหลาย ๆ คนถึงยังเปลี่ยนมือถือใหม่ทุกปี แล้วยังบอกว่าการเปลี่ยนทุกปีนั้นคุ้มกว่า เอ๊ะ! หรือที่เราเคยได้ยินมาอาจจะไม่จริง ในบทความนี้เราจะชวนทุกคนมาขบคิดในเรื่องนี้กันครับ

ใช้มือถือยาว ๆ คุ้มจริงไหม ?

ปกติแล้วเมื่อเราซื้อมือถือมาซักเครื่อง ก็คงจะหวังใจว่ามันจะอยู่กับเราไปนานที่สุด แต่ในความเป็นจริงมือถือมีรอบในการเปลี่ยนใหม่อยู่ที่ราว ๆ 3-5 ปีครับ จากหลายสาเหตุ ทั้งแบตเสื่อม จอเสื่อม แอปหรือระบบไม่รองรับครับ ถ้าฝืนใช้ต่อก็พอได้ แต่คิดว่าน่าจะลำบากซะเปล่า ๆ เปลี่ยนใหม่ดีกว่า

แน่นอนว่าการเปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่ก็ต้องพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งตัวอย่างที่เรายกมาเป็น Phone 13 Pro Max (128 GB) ราคา 42,900 บาทนะครับ ที่ต้องเป็น iPhone เพราะมีราคาขายต่อสูงกว่า Android ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับในส่วนถัดไป

เปลี่ยนมือถือทุก 3 ปี vs เปลี่ยนมือถือทุก 5 ปี


ตารางเทียบ “ค่าใช้จ่ายทั้งหมด” ของการเปลี่ยนมือถือแบบ 3-5 ปี
 

เรื่องนี้หลายคนน่าจะสงสัยกันใช่ไหมครับ เราลองคำนวณออกมาเป็นตารางด้านบนแล้วครับ หากถ้าเราเปลี่ยนมือถือทุก 3 ปี พอผ่านไป 5 ปีเราก็จะซื้อเครื่องที่สองไปแล้ว คิดเป็นเงิน 85,800 บาท ในขณะที่ถ้าเราเปลี่ยนทุก 5 ปีเราเสียเงินแค่ 42,900 บาทเท่านั้นเองครับ

ถ้าเราลองเอาราคามือถือมาหารเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี (ยิ่งน้อยยิ่งคุ้ม) การเปลี่ยนทุก 3 ปีจะมีค่าใช้จ่ายปีละ 42,900 ÷ 3 = 14,300 บาท กลับกันถ้าเปลี่ยนทุก 5 ปีก็จะลดลงเหลือปีละ 42,900 ÷ 5 = 8,580 บาท เรียกว่ายิ่งใช้ได้นานเท่าไร ค่าใช้จ่ายต่อปีก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น หรือเรียกว่าคุ้มกว่านั่นเอง

เปลี่ยนใหม่ทุกปี คุ้มกว่าจริงหรือ ?

เมื่อเรารู้แล้วว่า ยิ่งใช้นาน ยิ่งคุ้ม แต่ทำไมยังมีคนที่คิดจะเปลี่ยนมือถือทุกปีด้วยล่ะ มันคุ้มกว่าหรือไง ยกตัวอย่างมือถือราคาเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนทุกปีก็จะมีค่าใช้จ่ายปีละ 42,900 บาทเลยนะ ซึ่งแพงกว่า 500% ถ้าเทียบกับการใช้ยาว 5 ปีที่เฉลี่ยปีละ 8,580 บาท

คำถามคือเขาทำยังไงถึงเปลี่ยนได้ทุกปี เรื่องนี้มีคำตอบครับ ปกติแล้วคนที่เปลี่ยนมือถือทุกปี เขามักจะขายมือถือเครื่องเก่า เพื่อเอาทุนมาซื้อใหม่ แล้วจ่ายส่วนต่างเพิ่มไปครับ ส่วนใหญ่จะทำกับ iPhone เพราะเวลาขายเป็นมือสองราคาจะไม่ตกมากนัก เท่าที่เห็นคือตกปีละ 10,000 – 15,000 ครับ (ขึ้นอยู่กับสภาพ) แต่ถ้าเป็น Android ราคาจะตกเยอะกว่าหลายคนจึงไม่นิยมสักเท่าไร

ซึ่งการหาส่วนต่างจะต้อง เอาราคาที่ซื้อมา – ราคาขายมือสอง = ส่วนต่าง ตัวอย่าง iPhone 13 Pro Max (128GB) ถ้าซื้อมาในราคา 42,900 บาท แล้วใช้แบบถนอม ๆ พอผ่านไปซักหนึ่งปี มาขายก็จะได้ราคามือสองประมาณ 30,000 บาท (ราคาต่ำกว่าตลาด Facebook Marketplace) ไปซื้อเครื่องใหม่ที่ราคาเท่ากัน (แบบซื้อเครื่องเปล่า) โดยส่วนต่างที่เราต้องจ่ายทุกปีก็จะอยู่ที่ 42,900 – 30,000 = 12,900 บาท ถ้าเราลองเอามาเทียบกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีของการเปลี่ยนมือถือทุก 3-5 ปีก็จะเป็นตามตารางด้านล่างนี้เลย

ตารางเทียบ “ค่าใช้จ่ายต่อปี” ของการเปลี่ยนมือถือ

จะเห็นว่าถ้าเราเปลี่ยนมือถือทุกปีจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเปลี่ยนมือถือทุก3 ปี นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนบอกว่า เปลี่ยนมือถือทุกปีจะคุ้มกว่า (คุ้มกว่าเฉพาะ 3 ปีนะ) จ่ายถูกกว่าและยังได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ตลอด

แต่ แต่ แต่… นี่คือตัวเลขเฉลี่ยต่อปีเท่านั้นนะครับ เวลาคำนวณจริง ๆ เราต้องดูยอดเงินสุทธิที่จ่ายไปได้ด้วยครับ ซึ่งเราคำนวณไว้ให้แล้วตามตารางด้านล่างนี้

ตารางเทียบ “ค่าใช้จ่ายทั้งหมด” ของการเปลี่ยนมือถือ

จากตารางเราจะเห็นว่า การเปลี่ยนมือถือทุกปี เราจะเสียเงินน้อยกว่าการเปลี่ยนทุก 3 ปี (ซื้อใหม่ตอนปีที่ 4) จุดนี้แหล่ะที่คนเปลี่ยนทุกปีบอกว่าคุ้มกว่า แต่ถ้าเอาไปเทียบกับการเปลี่ยนทุก 5 ปี (ซื้อใหม่ตอนปีเข้าปีที่ 6) อันนี้เราก็จะต้องเสียเงินเยอะกว่าครับ โดยส่วนต่างก็คือ 107,400 – 84,900 = 22,500 บาท นี่เป็นเพียงแค่การคำนวณแบบสมมุตินะครับ ในความเป็นจริงจะมีส่วนต่างมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เป็น “ราคาขายมือสอง และราคามือถือเครื่องใหม่ในแต่ละปี” ถ้าถามว่าคุ้มไหม อันนี้ลองตัดสินใจดูนะครั

เทคนิคการเปลี่ยนมือถือทุกปีแบบผูกโปร

นอกจากนี้การเปลี่ยนมือถือทุกปี ยังมีวิธีทำให้ถูกลงด้วยการซื้อแบบผูกโปรโมชันรายเดือนครับ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าวิธีนี้ เหมาะกับคนที่จ่ายรายเดือนซัก 699 ขึ้นไป ไม่แนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นโปรแพง ๆ นะครับ เดี๋ยวเราลองมาดูกันว่ามันจะลดได้แค่ไหน

ยกตัวอย่าง ถ้าเราขายมือถือเก่าแล้วไปซื้อเครื่องใหม่แบบไม่ผูกโปรฯ จะมีส่วนต่างอยู่ที่ 12,900 บาท แต่ถ้าผูกโปรรายเดือน (1,699 บาท นาน 12 เดือน) เขาจะมีส่วนลดค่าเครื่องให้ 8,800 บาท ถ้ามาหักลบกับส่วนต่างเดิมที่เราคำนวณไว้เงินที่เราต้องจ่ายก็จะอยู่ที่ 12,900 – 8,800 = 4,100 บาทต่อปีครับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อยมากเลยแลกกับการได้ของใหม่ทุกปี แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลขนี้อาจจะไม่ใช่ตัวเลขจริงที่เราต้องจ่ายครับ เพราะการเปลี่ยนทุกปีมักจะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายแอบแฝง

ค่าใช้จ่ายแอบแฝง กับดักคนเปลี่ยนมือถือทุกปี

คนที่เปลี่ยนมือถือทุกปีอาจจะมองแค่ส่วนต่างที่ต้องจ่ายเฉพาะค่าเครื่องเท่านั้น แต่ในความจริงการเปลี่ยนเครื่องทุกปี มักมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงด้วย เช่น ค่าเคส ค่ากระจกกันรอย ค่าประกันอุบัติเหตุ และที่หนักสุดคือค่ามือถือรายเดือน ที่ต้องเสียเพิ่มในกรณีที่เราเปลี่ยนโปรถูกมาเป็นโปรแพงครับ เช่น ถ้าเราต้องเปลี่ยนจากโปร 699 มาเป็น 1,699 บาท เท่ากับว่าเราต้องจ่ายเพิ่ม 1,000 ต่อเดือน หรือ 12,000 ต่อปีเลยนะครับ นี่ยังไม่รวมค่าเคสและกระจกกันรอยอย่างดีที่ราคาประมาณ 2,000 บาทด้วยนะครับ (ที่ต้องเป็นอย่างดีเพราะเครื่องจะไม่เกิดรอย เวลาขายต่อราคาจะไม่ตก) รวมถึงประกันอุบัติเหตุอย่าง Apple Care ปีละ 8,290 บาทด้วยนะครับ

ตารางเทียบ “ค่าใช้จ่ายต่อปี” ของการเปลี่ยนมือถือ

ถ้ารวมค่าใช้จ่ายแอบแฝงเราต้องจ่ายต่อปีก็จะอยู่ที่ (12,000 + 2,000 + 8,290) + 4,100 = 26,390 บาทเลยนะครับ แต่อาจจะลดลงกว่านี้ได้หากเราตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออก แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ดีครับ ใครจะเปลี่ยนทุกปียังไงก็ต้องคำนวณในส่วนนี้เข้าไปด้วย ซึ่งบางทีอาจจะแพงกว่าใช้ยาว ๆ ก็เป็นได้ครับ

สรุป ใช้ยาว vs เปลี่ยนทุกปี แบบไหนคุ้มกว่า?

ถ้าต้องให้สรุปว่าการใช้มือถือยาว ๆ vs การเปลี่ยนมือถือทุกปี แบบไหนจะคุ้มที่สุด คำตอบคือแล้วแต่กรณีไปครับ ถ้าเรามองแค่ค่าเครื่องอย่างเดียว ไม่คิดรวมเรื่องค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ การเปลี่ยนมือถือทุกปีแบบผูกโปรจะคุ้มสุดครับ แต่ถ้ามองถึงปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนเครื่องใหม่ ดูเป็นอะไรที่น่าจะคุ้มกว่านะครับ

หวังว่าข้อมูลที่เรานำมาเสนอนี้ จะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจได้ว่าจะเลือกใช้มือถือยาว ๆ หรือซื้อใหม่ทุกปีได้นะครับ หรือถ้ามีความคิดเห็นที่แตกต่างจากนี้อย่างไร ก็สามารถคอมเมนต์มาแลกเปลี่ยนกันได้