เลี้ยงเด็กด้วย “มือถือ” ต้องดูแลและสอนให้ใช้งานอย่างปลอดภัย

เด็กและเยาวชนที่เกิดและโตในยุคสมัยนี้ สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนได้อย่างง่ายดายคล้ายเกิดมาคู่กัน โดยจุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจากผู้ใหญ่ที่ “เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” ให้เด็กได้คลุกคลีกับมือถือตั้งแต่ตัวน้อย ๆ เปิดหน้าจอทิ้งไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรทำ อยู่กับที่ไม่ก่อกวนทำความวุ่นวายใด ๆ ผู้ใหญ่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ทำให้ระหว่างนั้นเด็กหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต เพราะเข้าใจว่าคือของเล่นอย่างหนึ่ง ด้วยความไม่ประสีประสาและรู้ไม่เท่าทัน เด็กก็จะหากดหาเปิดอะไรไปเรื่อย ๆ บ้างก็ไถดูคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่มีทั้งดีและไม่ดี ยิ่งใช้ก็ยิ่งติด และถ้าผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานเลย ถึงเวลานั้นก็ยากเกินเยียวยา

เด็กไม่ควรอยู่กับมือถือนาน ๆ

จริง ๆ มันมีเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองควรที่จะเข้ามาควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดมากกว่าปล่อยให้เด็กเล่นตามใจชอบ ด้วยเด็กนั้นยังขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ ขาดการคิดไตร่ตรอง (ขนาดผู้ใหญ่บางคนยังมีปัญหา) และที่สำคัญก็คือ มันไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเลย มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความเชื่อมโยงของอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตของเด็กและวัยรุ่น อันเนื่องมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ การที่เด็กไม่ทำอะไรอย่างอื่นนอกจากนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ ยังทำให้เด็กจะขาดประสบการณ์วัยเด็กที่ควรจะได้รับสำหรับพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

ความไม่ประสีประสาของเด็ก พวกเขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนออนไลน์ก็มีหลากหลายทั้งดีและไม่ดี ถึงอย่างนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ได้มีเวลาว่างในการดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือของบุตรหลานได้ตลอดเวลา ไม่มีเวลาที่จะมาคัดกรองคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ เสพด้วยตนเอง แต่โทรศัพท์มือถือกลับอยู่ในมือเด็ก ๆ เกือบตลอดเวลา ก็เท่ากับว่าเด็ก ๆ มีโอกาสเสี่ยงที่จะไปเจอกับคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกที่จะทำในเบื้องต้น คือความพยายามในการคัดกรองประเภทคอนเทนต์ที่จะให้เด็กเสพ ควบคุมเวลาในการใช้งานมือถือต่อวัน ซึ่งควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ควรมากจนเกินไป และสร้างภูมิคุ้มกันในการตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดีสิ่งไม่ดี เหมาะสมไม่เหมาะสม เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้เครื่องมือดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน รวมถึงการป้องกันความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางออนไลน์

เด็กกับโซเชียลมีเดีย ใช้ได้แต่ต้องควบคุมดูแลให้ใช้งานอย่างปลอดภัย

ผลของการวิจัยต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจนว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้เหมาะสำหรับเด็ก และเป็นเรื่องแย่มาก ๆ หากไร้การควบคุมหรือคำแนะนำใด ๆ จากผู้ใหญ่ ในเมื่อโซเชียลมีเดียอาจเป็นโทษต่อเด็กมากกว่าเป็นคุณ พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายจึงควรใส่ใจดูแลบุตรหลานของท่านให้ดี เพราะเด็กยังไม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรผิด พ่อแม่ต้องสอนวิธีเล่นโซเชียลมีเดียอย่างพอดี ปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลลัพธ์ด้านลบกับตัวเด็กลง ดังนี้

1. เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรมีบัญชีโซเชียลเป็นของตนเอง

เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง ตามกฎข้อบังคับของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะมีการกำหนดอายุของผู้ที่จะสมัครบัญชีว่าจะต้องอายุไม่ต่ำกว่า 13 ปี โดยจะกำหนดให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลวันเดือนปีเกิด เพื่อคัดกรองไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีสร้างบัญชีส่วนตัวได้ ถ้าจะสร้างจะต้องระบุว่ามีผู้ปกครองหรือผู้ที่จัดการบัญชี แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กสมัยนี้ฉลาดพอ (กับเรื่องแบบนี้) ที่จะปลอมแปลงวันเดือนปีเกิดของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีกฎหมายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยเป็นกฎหมายที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ต้องปฏิบัติตามเช่นกัน

2. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป

เด็กนั้นมีประสบการณ์น้อย ไร้เดียงสา เมื่อได้ยินหรือได้เห็นอะไรก็มักจะเชื่อว่ามันแบบนั้นในทันที ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรอธิบายให้บุตรหลานฟังเสมอว่าทุกอย่างที่เห็น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป ทุกอย่างสามารถคัดเลือก จัดฉาก หรือโกหกหลอกลวงได้ทั้งนั้น

ยกตัวอย่างภาพผู้หญิงสวย ๆ ที่เด็กพบเห็น ต้องอธิบายกับเด็กว่ามันมีตั้งแต่การเลือกนางแบบ ใช้มุมกล้อง มีการจัดแสง การตัดแต่งรูปภาพ มีแอปฯ ช่วย และอื่น ๆ อีกสารพัด จากกรณีที่เด็กเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นบนโลกออนไลน์ หรือกังวลกับความสวยงามตามแบบคนอื่นแล้วด้อยค่าตัวเองจนขาดความมั่นใจ การเลียนแบบความงามแบบผิด ๆ ด้วยวิธีที่อันตราย หรือการเห็นคนอื่น ๆ มีข้าวของแพง ๆ ใช้แล้วอยากมีบ้าง ใช้วิธีผิด ๆ เพื่อให้มีตาม

สิ่งที่สำคัญที่สุด เด็กเป็นเหยื่อชั้นดีของแก๊งมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเด็กให้ทำเรื่องไม่ดี การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การก่ออาชญากรรมทางเพศ หรือหลอกเอาตัวตนที่เด็กเปิดเผยไปใช้ในทางมิชอบ เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับมิจฉาชีพที่จะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อขโมยตัวตนของเด็ก หรือการที่พ่อแม่ยุคใหม่ชอบโพสต์เรื่องราวและรูปภาพของลูกก็อันตรายต่อเด็กเช่นกัน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกบนสื่อออนไลน์ อาจทำให้เด็กถูกค้นเจอโดยมิจฉาชีพ นำมาสู่การหลอกลวง ลักพาตัว และอื่น ๆ ได้มากมาย

3. ควบคุมระยะเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กเล็ก ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง

ด้วยความที่เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโต ปกติแล้วควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน แต่การที่เด็กติดมือถือ ติดโซเชียลมีเดีย นั่งเล่นนั่งดูได้ทั้งวันก็ส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ อาจทำให้เด็กร่างกายไม่แข็งแรง นอนหลับยาก สมาธิสั้น สับสนระหว่างสังคมจริงกับโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ลุ่มหลงในโลกจอมปลอม อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน

  • ขาดพัฒนาการตามวัย : เด็ก ๆ ในวัย 1-5 ขวบเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางการเติบโตสูง ต้องการการขยับร่างกาย ออกไปวิ่งเล่น มีประสบการณ์นอกบ้าน ซึ่งถ้าเอาแต่นั่งจ้องโทรศัพท์ทั้งวันไม่ทำอย่างอื่น ข้าวปลาไม่กิน ถึงเวลาไม่นอน ก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายได้ง่ายมากกับเด็กวัยนี้ เช่น ป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง
  • ส่งผลด้านอารมณ์ : เมื่อเกิดอาการติดมือถือก็อาจทำให้กลายเป็นคนที่มีอารมณ์ร้อนโมโหง่าย ไม่อดทน รอคอยไม่เป็น ผู้ใหญ่มักจะมารู้เมื่อสายว่าการเลี้ยงลูกด้วยมือถือเป็นโทษต่อเด็ก การห้ามหรือปรามจะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งสุดท้ายการจะทำให้เขาสงบได้ก็ด้วยการยื่นมือถือ กลายเป็นวงจรที่ถอยออกไม่ได้
  • ขาดการเข้าสังคม : การเข้าสังคมพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เด็กที่ติดการใช้มือถืออาจขาดการพัฒนาตรงส่วนนี้ไปเนื่องจากเลือกที่จะจมอยู่กับมือถือและแท็บเล็ตมากกว่าการสุงสิงหรือเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ขาดมนุษยสัมพันธ์ การเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน

เด็กควรมีพัฒนาการต่าง ๆ ไปตามวัยในแบบที่พวกเขาควรจะเป็น ยิ่งเด็กหมดเวลาไปกับการใช้มือถือหรือโซเชียลมีเดีย มากเท่าไรก็สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจของเด็กเพิ่มขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องจำกัดระยะเวลาการใช้มือถือของบุตรหลาน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจใช้วิธีพูดคุย ตกลงทำความเข้าใจ การตั้งค่าในสมาร์ตโฟนของเด็ก มีตัวช่วยเป็นแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมการใช้งานมือถือของเด็กเล็ก หรือจะมีกฎของบ้านที่ชัดเจน ทุกคนต้องปฏิบัติตามก็ดีเหมือนกัน

4. สร้างกฎการใช้โทรศัพท์มือถือ ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตาม ไม่มีข้อยกเว้น

เด็กเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากตัวอย่างที่เห็น การที่เด็กเห็นพ่อแม่ทำอะไรบ่อย ๆ พวกเขาจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะปฏิบัติตาม การสร้างกฎของครอบครัวที่เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตามจึงเป็นอีกวิธีที่ควบคุมพวกเขาได้ เช่น ห้ามใช้โทรศัพท์ระหว่างกินข้าว ห้ามนำโทรศัทพ์มือถือมาวางที่โต๊ะอาหาร หากทุกคนในบ้านเคารพกฎ ปฏิบัติตามกฎเป็นอย่างดี ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นอะไรเป็นพิเศษ มันก็จะทำให้ผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กได้ง่ายขึ้น พวกเขาจะไม่มีคำอ้างว่า “ทีพ่อแม่ยัง…เลย”

5. ใส่ใจและสังเกตเด็กหลังจากการเล่นโซเชียลมีเดียเสมอ

ผู้ใหญ่อาจใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็ก หรือจะเรียกมาคุยกันอย่างตรงไปตรงมาเลยก็ได้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการเล่นโซเชียลมีเดีย มีความรู้สึกแย่บ้างไหม ถ้ามีคือเรื่องอะไร พบเจอคนแปลก ๆ ไม่ชอบมาพากลบ้างไหมในขณะที่เล่น หรือเข้าไปดูอะไรมาบ้าง แล้วเด็กเลียนแบบพฤติกรรมแปลก ๆ มาหรือเปล่า ควรดูด้วยว่าบุตรหลานของตัวเองมักดูคอนเทนต์ประเภทไหน ติดตามใครอยู่บ้าง ลองถามดูว่าคนที่พวกเขาติดตามทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กมีปัญหา มีความรู้สึกแย่ ๆ หรือไปติดพฤติกรรมไม่ดีมาจากบัญชีไหน ก็ให้เลิกติดตามบัญชีนั้น ๆ

6. สอนวิธีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยให้กับเด็ก

ไม่มีทางที่ผู้ปกครองจะห้ามเด็กใช้โซเชียลมีเดียได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา เด็กเองก็อยากมีอิสระและทำอะไรตามลำพัง การเข้มงวดแบบผิดวิธีอาจทำให้เด็กเก็บกดจนเตลิด ฉะนั้น จึงควรสอนให้เด็ก “รู้เท่าทันการใช้โซเชียลมีเดีย” สอนพวกเขา “ใช้โซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย” เช่น เปิดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (ที่เป็นไปได้ทั้งหมด) เน้นย้ำเรื่องการโพสต์หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียลมีเดีย อย่าเชื่ออะไรใครง่าย ๆ แม้จะเป็นคนรู้จัก และควรบอกผู้ใหญ่หากมีการติดต่อกับคนที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นต้น