เทคโนโลยีมันดีอย่างนี้ มี AI ในการตรวจคัดกรองมะเร็ง

“รัก ไม่ใช่ ดวงดาวเมื่อพราวแสง” มุกไวรัลสุดฮิตบนโลกออนไลน์ที่เป็นกระแสร้อนแรงเมื่อไม่นานมานี้ เรียกได้ว่าถ้าใครไม่เล่นถือว่าตกเทรนด์ เป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัลดังกล่าวเป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเพลง “รักคือฝันไป” ศิลปิน “สาว สาว สาว” ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของไทย โดยเพลง “รักคือฝันไป” ที่กลับมาเป็นกระแสพูดถึงจนเป็นไวรัลในปัจจุบันนี้ เป็นเพลงที่เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2526 นับรวม ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 39 ปีเลยทีเดียว!

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคุณหมอท่านหนึ่งออกมาโพสต์เฟซบุ๊กด้วยข้อความที่ทำเอาคนจำนวนไม่น้อยถึงกับจุกว่า “ผู้ที่เล่น รักมิใช่ดวงดาวเมื่อพราวแสง ท่านอยู่ในวัยที่ควรคัดกรองมะเร็งแล้วครับ” เพราะถ้าใครทันเพลงนี้ตั้งแต่สมัยที่เพลงออกมาใหม่ ๆ ทันสมัยที่วงสาว สาว สาว ยังทำกิจกรรมกลุ่มครบทั้ง 3 คน หรือไม่ได้เพิ่งมารู้จักเพลงนี้ตอนที่เป็นไวรัลในครั้งนี้ แปลว่า “อายุคุณไม่เด็กแล้ว! และมันถึงเวลาที่คุณต้องตรวจคัดกรองมะเร็งแล้วด้วย” แบบที่คุณหมอบอกนั่นเอง

การตรวจคัดกรองมะเร็ง

เราตรวจคัดกรองมะเร็งไปทำไม และจำเป็นแค่ไหนที่ต้องตรวจคัดกรอง บอกเลยว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก หากคุณยังไม่อยากอายุสั้นหรือจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร เพราะ “มะเร็ง” เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมายาวนานนับ 20 ปี โดยยอดผู้ป่วยทั่วโลกเมื่อปี 2020 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มีสูงถึง 19.3 ล้านราย และมีการคาดการณ์ด้วยว่าภายในปี 2040 จะมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 30.2 ล้านคน

นอกจากนี้ ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สถานการณ์โรงมะเร็งในโลก ระบุว่า โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ

สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็งของไทยข้อมูลล่าสุดจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าปัจจุบัน คนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คนหรือ 139,206 คนต่อปี และสถิติสาธารณสุขปี พ.ศ.2562 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปีเลยทีเดียว และอุบัติการณ์โรคมะเร็งในไทย พบโรคมะเร็งในเพศหญิงวันละ 159 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (อันดับที่ 15 ของเอเชีย) และพบในเพศชายวันละ 173.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (อันดับที่ 16 ของเอเชีย)

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะกว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองป่วย มะเร็งก็ลุกลามจนเข้าสู่ระยะท้าย ๆ ของโรคแล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ WHO และคุณหมอ แนะนำให้ตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ เพราะหากพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ทางการแพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการตรวจค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นโรคจนถึงมะเร็งระยะเริ่มต้น แม้ว่าตัวผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการที่แสดงออกมาชัดเจน การตรวจคัดกรองมะเร็ง จึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้เร็ว เริ่มต้นรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อันจะมีผลให้มีโอกาสมีชีวิตรอดจากโรคมะเร็งภายหลังการรักษาสูงขึ้น อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดน้อยลง

ปกติแล้วคนเราควรตรวจคัดกรองมะเร็งตอนอายุเท่าไร

เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลงได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างทันท่วงที และยิ่งในคนที่มีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งต้องใส่ใจสุขภาพของตนเองมากเป็นพิเศษ เพราะความเสี่ยงในการพบโรคต่าง ๆ นั้นถือว่ามากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว ทว่าควรจะตรวจมะเร็งแต่ละชนิดเมื่อไรถึงจะป้องกันความเสี่ยงได้ดีที่สุด แบ่งตามอันดับของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ดังนี้

  • มะเร็งตับ คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี และไม่แสดงอาการในระยะแรก แพทยจึงแนะนำให้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งเต้านม ปกติแล้วมะเร็งเต้านมซึ่งพบเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ช่วงอายุเฉลี่ยที่พบได้มีตั้งแต่อายุ 35-55 ปี ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 30-39 ปี ควรตรวจคัดกรองทุก 3 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุกปี และคลำเต้านมแล้วพบความผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • มะเร็งปอด มะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในไทย ซึ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่ รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่สูบบุหรี่
  • มะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกมักพบมากในเพศหญิงอายุประะมาณ 40 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของปากมดลูก ซึ่งมีทั้งการตรวแพปสเมียร์ และตรวจหาเชื้อ HPV โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ หญิงที่มีคู่นอนตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือหลายคน, มีบุตรจำนวนมาก, สูบบุหรี่จัด, ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) รวมถึงผู้หญิงที่เคยตรวจภายในเลยด้วย
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักพบบ่อยเป็นอันดับ 3 ของคนไทย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มักจะพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งอายุเฉลี่ยที่ตรวจพบในคนไทยอยู่ระหว่าง 60-65 ปี แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

ตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยความทันสมัย โดยมี AI เป็นผู้ช่วย 

ยุคสมัยนี้ เป็นยุคที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์หลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ AI ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายในแทบทุกวงการ อย่างในวงการการแพทย์ AI ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ช่วยแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพและการรักษาผู้ป่วยเช่นกัน เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานและพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสผิดพลาด เพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคอีกด้วย

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็ง ปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำ AI มาใช้ประโยชน์ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหลาย ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก

การใช้ AI มาช่วยตรวจจับมะเร็งปอด จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เห็นเซลล์มะเร็งได้แม่นยำขึ้นกว่าเดิม ลดความผิดพลาดไปได้ 5-11 เปอร์เซ็นต์ โดยการสอนให้ AI ได้อ่านภาพซีทีสแกนปอดจำนวนมหาศาล เพื่อให้เรียนรู้ส่วนประกอบที่แตกต่างกันระหว่างปอดที่มีเนื้อร้ายแปลกปลอมกับปอดที่สุขภาพปกติ ซึ่งปกติแล้วขั้นตอนการวินิจฉัยภาพจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญและซับซ้อนมาก แพทย์ที่เชี่ยวชาญยังต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์นานปี ในการวิเคราะห์ภาพสแกนว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ AI จึงช่วยลดความยุ่งยากของขั้นตอนนี้ลง ลดภาระการทำงานของแพทย์ ช่วยเรื่องการรักษา เมื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้นก็จะทำให้ผลของการรักษาออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่รูปแบบเดิม แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้อง แต่วิธีนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีความซับซ้อนของจุดโค้ง รอยพับงอหลายจุด การสังเกตผ่านกล้องจึงอาจไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ทำให้หลายครั้งไม่พบรอยโรค รวมถึงมีติ่งเนื้อในลักษณะที่มองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า ก็จะสังเกตได้ยาก อาจเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัย ในขณะที่ AI กลับช่วยให้ตรวจพบติ่งเนื้อได้เร็วขึ้น เพราะมีมุมมองการตรวจจับได้ในระยะไกล เห็นเป็นวงกว้าง แม่นยำ เที่ยงตรงมาก และสามารถประเมินและวิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นติ่งเนื้อชนิดที่ผิดปกติ หรือชนิดที่อาจจะเป็นมะเร็งได้ในอนาคตหรือไม่

มะเร็งเต้านม AI สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้จากการคัดกรองเป็นประจำด้วยเมมโมแกรม ซึ่งมีความแม่นยำกว่าแพทย์ โดยให้ตรวจหามะเร็งจากภาพเอ็กซ์เรย์ในการคัดกรองเต้านมของผู้หญิง พบว่า AI สามารถอ่านผลเมมโมแกรมอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารังสีแพทย์ 6 คน (ที่ทำงานคนเดียว) และมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับการทำงานร่วมกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน AI จึงทำหน้าที่เป็น “ความคิดเห็นที่สอง” ที่มีประสิทธิภาพในอนาคตได้

AI สามารถช่วยคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูก โดยใช้เวลาวินิจฉัยได้รวดเร็วแม่นยำใน 1 วินาทีเท่านั้น โดยการนำเทคโนโลยี AI ติดตั้งในตัวกล้องที่ใช้ส่องหาเซลล์มะเร็งจากปากมดลูก โดยใช้กล้องคุณภาพสูงจำนวน 2 ตัวทำหน้าที่เก็บภาพปากมดลูกโดยละเอียดและแสดงผลออกมาเป็นภาพสามมิติ จากนั้น AI จะจำแนกภาพเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกอย่างรวดเร็ว ส่งผลการตรวจภาพบริเวณที่มีความผิดปกติของปากมดลูกพร้อมกับร้อยละของโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้พร้อม ๆ กัน วิธีนี้สามารถลดต้นทุน ลดเวลา และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกลง