วิเคราะห์แผนทวิตเตอร์ ‘เก็บเงินเพื่อยืนยันตัวตน’ รุ่งหรือร่วง?

เครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือ “blue checkmarks” ที่ทางทวิตเตอร์นำมาใช้ ตั้งแต่ในช่วงปี 2008 ถึง 2009 ขณะที่เริ่มต้นเว็บไซต์ โดยเป็นระบบตรวจสอบแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันการแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จนเครื่องหมายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งตัวอย่างคนดังที่เคยถูกแอบอ้าง อย่างเช่น คานเย เวสต์ นักกีฬาบาสเก็ตบอล แชคิล โอนีล รวมถึงนักแสดง ยวน แม็คเกรเกอร์

หนึ่งในกรณีฟ้องร้องอันมาจากการแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2009 โทนี ลา รุซซา ผู้จัดการของทีมเบสบอล St. Louis Cardinals ยื่นฟ้องบริษัททวิตเตอร์ โดยอ้างว่ามีบัญชีปลอมที่ใช้ชื่อของเขาทวีตข้อความเชิงล้อเล่นกับพฤติกรรมเมาแล้วขับและการเสียชีวิตของสมาชิกในทีม รุซซาชี้ว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายชื่อเสียงและทำให้เขาเกิดภาวะเครียดตามมา

แม้ว่าในที่สุด รุซซาจะยุติการดำเนินคดี แต่ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น บิซ สโตน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของทวิตเตอร์ ได้เริ่มใช้ระบบการตรวจสอบเพื่อแยกแยะบัญชีของผู้ใช้งานจริง ออกจากผู้ที่พยายามแอบอ้าง เจ้าของบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบจะได้รับเครื่องหมายถูกสีฟ้าตามหลังชื่อของพวกเขา เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถรู้ได้ว่าบัญชีดังกล่าวเป็นตัวตนของบุคคลนั้นจริง

ผ่านมาจนถึงปี 2022 อิลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่ ที่เข้าซื้อบริษัททวิตเตอร์ด้วยมูลค่ามากถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ ต้องการเปลี่ยนให้ระบบการตรวจสอบตัวตนกลายเป็นแหล่งรายได้ของบริษัท และถือเป็นการพลิกจากสิ่งที่มัสก์เคยพูดก่อนที่จะเข้าซื้อบริษัท ซึ่งในขณะนั้นเขากล่าวว่าต้องการที่จะ “ยืนยันตัวตนผู้ใช้งานที่เป็นมนุษย์ทุกคน” บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์

มัสก์เสนอความคิดที่จะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้งาน 20 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับ “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” เพื่อรับรองบัญชีอย่างเป็นทางการ รวมถึงการใช้งานเพิ่มเติมบางอย่าง

ซึ่งสตีเฟน คิง นักเขียนชื่อดัง ทวีตข้อความต่อประเด็นนี้ว่า “ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมไปแน่” หลังจากนั้นมัสก์ตอบกลับว่า “เรามีค่าใช้จ่าย ทวิตเตอร์ไม่สามารถพึ่งรายได้จากการโฆษณาเท่านั้น แล้วถ้าเกิดคิดที่ 8 ดอลลาร์จะเป็นอย่างไร?”

ไม่ว่าราคาต่อเดือนจะอยู่ที่เท่าใด แต่แนวคิดเรียกเก็บเงินเพื่อการยืนยันตัวตนบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดคำถามและความกังวลมากมาย

จัสมิน เอนเบิร์ก นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย Insider Intelligence กล่าวว่า “การสร้างรายได้จากผู้ใช้งานทวิตเตอร์อาจเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม แต่การใช้ระบบยืนยันตัวตนเพื่อมาคิดค่าบริการอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง ระบบยืนยันตัวตนมีไว้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีผู้ใช้งานและบทสนทนาที่มีขึ้นบนแพลตฟอร์ม มากกว่าที่จะเป็นบริการเสริมพิเศษในการเพิ่มประสบการณ์การใช้งาน”

เอนเบิร์ก เชื่อว่ามีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ ที่ผู้ใช้งานโซเชียลพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อบริการนั้น เธอคิดว่า แทนที่จะคิดค่าบริการจากระบบยืนยันตัวตน มัสก์ควรที่จะพิจารณาเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ บนทวิตเตอร์ เพื่อดึงให้คนมาใช้งานและแต่ละคนจะสามารถขยายฐานผู้ติดตาม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ เอนเบิร์กเสริมว่า “การเปลี่ยนผู้ใช้งาน ให้มาเป็นลูกค้าไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ลูกค้าได้รับจะต้องมีค่ามากพอกับเงินที่จ่ายไป”

ทวิตเตอร์มีแผนที่จะแนะนำบริการที่ชื่อว่า “Twitter Blue” โดยจะคิดค่าบริการสมาชิก 5 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับผู้ใช้งานที่จะสามารถลบข้อความที่ทวีตไปแล้ว รวมถึงอ่านบทความแบบไม่มีโฆษณา โดยแผนของซีอีโอคนใหม่ มุ่งเป้าไปที่ค่าบริการที่สูงขึ้น กับลูกเล่นการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

เดเนียล อายส์ นักวิเคราะห์จากบริษัทด้านการเงิน Wedbush ให้ความเห็นว่า “จากบัญชีทวิตเตอร์ที่ได้รับการรับรองแล้วประมาณ 300,000 บัญชี เราประเมินว่าจะมีเพียง 25% เท่านั้น ที่จะตัดสินใจใช้บริการนี้และจ่ายค่าบริการ 8 ดอลลาร์ต่อเดือน”

จากการวิเคราะห์ข้างต้น บริษัทจะมีรายได้เสริมเพียง 7.2 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ดึงดูดมากพอสำหรับบริษัทที่มีรายรับรายในไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 1,180 ล้านดอลลาร์

อายส์ คาดหวังให้ผู้บริหารคนใหม่ของทวิตเตอร์ เริ่มเก็บค่าบริการกลุ่มผู้ใช้งานที่มี “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” เพื่อที่จะรักษาสัญลักษณ์นี้ไว้เป็นเป้าหมายแรก ก่อนที่จะขยับไปแนะนำทางเลือกในราคาที่ต่างกันไปสำหรับผู้ใช้งานที่เหลือ

นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่า “ผู้มีชื่อเสียง และนักกีฬาจำนวนมาก จะเต็มใจในการสูญเสียสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกสีฟ้า และปฏิเสธการจ่ายค่าบริการรายเดือน มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดของมัสก์ หลังจากที่ใช้กลยุทธ์ของตนเองครั้งแรกกับทวิตเตอร์”

แม้ว่าแผนการณ์ของมักส์ยังไม่มีความชัดเจน แต่เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่าผลที่จะตามมาจากการใช้ระบบการตรวจสอบยืนยันตัวตนที่ต้องมีค่าบริการ จะส่งผลให้ใครก็ตามที่ไม่อยากเสียเงินจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกแอบอ้าง รวมถึงกลุ่มที่ชำระค่าบริการ ข้อความทวีตของพวกเขาจะถูกแสดงมากขึ้นจากการประมวลผลของอัลกอริทึม

แม้ว่ามัสก์จะแสดงความเห็นว่า ค่าบริการ 8 ดอลลาร์ต่อเดือนเทียบได้กับค่ากาแฟเพียงหนึ่งแก้ว แต่สำหรับบางกลุ่มอาจจะมองว่าไม่คุ้มที่จะจ่ายค่าบริการ ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักเคลื่อนไหว นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมทั้งร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศสหรัฐฯ

แนวคิดของระบบยืนยันตัวตน คือการทำให้แน่ใจว่า บุคคลสาธารณะ นักการเมือง และธุรกิจต่าง ๆ ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์นี้เป็นตัวตนจริง โดยในช่วงต้นที่ทดลองระบบดังกล่าว เริ่มต้นกับกลุ่มผู้ใช้งานขนาดเล็กก่อน ก่อนที่สื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ จะหยิบเอาระบบยืนยันตัวตนรูปแบบเดียวกันนี้ไปใช้ในเวลาต่อมา

บิซ สโตน อดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ เคยเขียนไว้ในปี 2009 ว่า “การทดลองจะเริ่มจากกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ ศิลปินชื่อดัง นักกีฬา และบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกแอบอ้าง” สโตนยังได้แนะนำในช่วงนั้นว่า หากผู้ใดที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ในทันที ให้ใส่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการในช่องโปรไฟล์ของบัญชีทวิตเตอร์ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน

ในเบื้องต้นบัญชีสำหรับธุรกิจ อย่างเช่น Coca-Cola หรือ McDonald’s ไม่ได้อยู่ในระบบที่ต้องยืนยันตัวตน แต่ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง เนื่องจากปัญหาบัญชีปลอมที่กลายเป็นปัญหาใหญ่บนโซเชียลมีเดีย

เครื่องหมายการยืนยันตัวตน ในบางแวดวงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะของคนชั้นสูง มีฐานะมั่งคั่ง และมีชื่อเสียง เพื่อที่จะสร้างความแน่ใจให้ผู้ใช้งานรู้ได้ว่าเป็นบัญชีของตัวจริง และสิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อทางบริษัททวิตเตอร์เองด้วย เพราะช่วยลดบัญชีที่เป็นการสวมรอยเป็นบุคคลอื่น

ทางด้าน แคลลี แมคไบล์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมสื่อ จากสถาบัน Poynter Institute ตั้งข้อสังเกตว่า “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” ของทวิตเตอร์ อาจจะมีคุณค่าที่ด้อยลงหรือไม่ เมื่อผู้คนรู้ว่าสิ่งนี้สามารถใช้เงินซื้อได้