ด่าก่อนขอโทษพร้อมกระเช้าทีหลัง วัฏจักรของการไม่คิดก่อนโพสต์

ตั้งแต่โซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้นมา รูปแบบการสื่อสารของมนุษย์เราก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เราจะคุ้นเคยกับสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารสาธารณะ (ซึ่งอยูในลักษณะของการป่าวประกาศให้มวลชนทราบ) โดยความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้น คือการสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีผู้รับสารเป็นสาธารณะ เพราะใคร ๆ ก็สามารถเห็นได้โดยไม่ตั้งใจหรือจงใจก็กดเข้าไปอ่านเองก็ตามที โดยไม่มีการจำกัดหรือปิดกั้นการเข้าถึงใด ๆ ทว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับเรียกพื้นที่ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้นั่นว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว เพียงเพราะบนจอมีชื่อของเราเป็นเจ้าของบัญชี

อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากที่โลกนี้ได้รู้จักกับโซเชียลมีเดีย คือการสื่อสารที่ผู้ส่งสารสามารถปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเองจากผู้รับสารได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ในอดีตเราอาจจะไม่รู้จักกับตัวจริง (ชื่อจริง-นามสกุลจริง) ของนักเขียนที่แต่งหนังสือเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ก็จริง โดยพวกเขาเลือกที่จะปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเองโดยใช้นามแฝงหรือนามปากกาสำหรับออกผลงาน แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งที่พอจะรู้เหมือนกันว่านามปากกานี้ตัวจริงคือใคร ทว่าในยุคของการสื่อสารไร้สายที่เราไม่แม้แต่จะเห็นหน้าผู้ส่งสารด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้ความสามารถในการปิดบังตัวตนในการสื่อสารของผู้คนมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ความอิสระจากการสื่อสารที่ผู้รับสารไม่รู้ว่าผู้ส่งสารเป็นใคร

การปกปิดตัวตนที่แท้จริงในการสื่อสารที่ทั้งไม่มีใครเห็นหน้า ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อจริง และยังมีความเป็นสาธารณะ นำมาซึ่งปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือการใช้ประโยชน์จากการปกปิดตัวตน เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองกล้าที่จะแลกเปลี่ยนถกเถียงกับผู้อื่น (ซึ่งก็อาจจะปกปิดตัวตนเหมือนกัน) ในประเด็นที่อ่อนไหวหรือเรื่องที่สังคมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายได้มากกว่าเดิม รวมถึงการแสดงความคิดเห็นแบบที่กล้าได้กล้าเสีย การคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเสีย ๆ หาย ๆ หรือการโพสต์ด่าคนอื่นด้วยถ้อยคำหยาบคาย ชนิดที่จะมีสักกี่คนกันที่จะกล้าทำแบบเดียวกันนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว

เมื่อการปิดบังตัวตนทำให้คนเรากล้าที่จะสื่อสาร “เกินขอบเขต” ได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความที่ “ไม่มีใครรู้ว่าฉันเป็นใคร” ก็เป็นไปได้ว่าผู้ส่งสารมีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าว การใช้ถ้อยคำรุนแรง รวมถึงกล้าที่จะแสดงความเหยียดหยาม รังเกียจเดียดฉันท์ผู้อื่นได้มากกว่าการสื่อสารแบบเปิดเผยตัวตน ยิ่งเป็นการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียที่ปกติผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์กันทางออนไลน์มักจะไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันทางออฟไลน์เท่าไรด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่ผู้ส่งสารจะแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ “ไม่แคร์” ได้มากขึ้นเท่านั้น แสดงออกซึ่งพฤติกรรมแบบต่อต้านสังคม ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หัวร้อนหุนหันพลันแล่น และโพสต์หรือคอมเมนต์แบบ “ไม่คิดตริตรอง” ว่าเหมาะสมหรือไม่

โพสต์ไม่คิดชีวิตเปลี่ยน เดือดร้อนมานักต่อนักแต่ไม่เคยเป็นบทเรียน

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่คนที่ปกปิดตัวตนเท่านั้นที่กล้าที่จะใช้พฤติกรรมก้าวร้าวหยาบคายต่อผู้อื่นบนโซเชียลมีเดีย ด้วยธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่โดดเด่นในเรื่องของ “ความไว” เมื่อมีการนำเสนอเรื่องราวดราม่าหรือข่าวขึ้นมา มันก็มักจะมาพร้อมกับช่องคอมเมนต์ที่ใครก็ได้สามารถแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวหรือข่าวนั้นได้แทบจะทันที คนที่ในหัวมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อยู่ ก็เลือกที่จะ “แสดงความคิดเห็น” เลยทันที และแสดงออกทั้งที่ยังเปิดเผยตัวตนชัดเจน “โพสต์เองนักเลงพอ” ทว่าไม่เว้นช่องว่างสำหรับการคิดไตร่ตรองให้ดีว่าความคิดเห็นที่ตนเองกำลังจะแสดงออกไปนั้น มันจะนำมาซึ่งผลดีหรือผลร้ายต่อตัวเอง

ในยุคนี้ สำนวนที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” และ “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย” ดูจะมีความหมายกว้างขึ้นกว่าการพูด เพราะยุคสมัยนี้มันเป็นยุคที่เราอาจจะใช้วิธี “พิมพ์แล้วโพสต์” ลงบนสื่อโซเชียลมีเดียของตนเอง เพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเองมากพอ ๆ กับการพูด ในขณะเดียวกัน มันก็ดันเหลือหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันได้ง่ายกว่าการพูดด้วยซ้ำไป หากใครที่มาเจอเข้าแล้ว “แคปเจอร์” ภาพหน้าจอนั้นได้ทันก่อนที่เจ้าตัวจะฉุกคิดได้หลังจากที่ลงมือทำไปแล้วและลบทิ้ง สุดท้ายมันก็เป็นประเด็นให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังได้ โดนขุดอดีต โดนแบน ผลลัพธ์จึงแทบไม่ต่างอะไรจากการพูดพล่อย ๆ พูดไม่คิด มือไวใจเร็วเกินไป จนตัวเองเจอเข้ากับความหายนะ

บทเรียนที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยจำนี้มีให้เห็นถี่ยิบเกินไป การแสดงความคิดเห็นออกมาเช่นไร ก็บ่งบอกถึงตัวตนและทัศนคติของบุคคลนั้นว่าเป็นเช่นนั้น แถมยังให้อารมณ์นำพา โพสต์หรือคอมเมนต์ทันทีโดยไม่คิดไตร่ตรองก่อนเพียงแค่อยากจะระบายในสิ่งที่ตนเองคิดและรู้สึก ทำให้เจ้าตัวคนโพสต์เดือดร้อนมานักต่อนักแล้ว บ้างก็ตกงาน เพราะแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่บุคคลนั้นทำงานอยู่ส่วนหนึ่งก็มาจากปัจเจกของตัวบุคลากร ปกติแล้วสังคมไม่ได้สนใจแค่ตัวบุคคล แต่สนใจว่าต้นสังกัดที่ดูแลเรื่องหน้าที่การงานจะเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อพนักงานของตนเองมีพฤติกรรมเช่นนี้

โทษที่จะได้รับจะยิ่งหนักขึ้น สำหรับบุคคลสาธารณะที่โพสต์ไม่คิด แค่ครั้งเดียวของการโพสต์ไม่คิดจะแสดงให้เห็นถึงทัศนคติถ่อย ๆ ที่ไม่ได้ทำให้ดูเท่ หลายพฤติกรรมมีเหตุและผลในตัวเองว่าทำไมจึงไม่สมควรที่จะทำ และทำไมสังคมจึงรับไม่ได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมคนทั่วไปจึงรู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีมารยาทและน่ารังเกียจ แม้ว่าคนของสังคมจะมีผิดพลาดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะให้อภัย เพราะเป็นคนสาธารณะ อยู่ในที่สว่าง การวางตัวและภาพลักษณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำอะไรพลาดนิดเดียวก็ดับได้แล้ว ถ้าคนในสังคมพร้อมใจกันกัน “แบน” ก็อาจไม่มีที่ยืนในสังคมอีกเลย

เพราะโลกของธุรกิจไม่ได้ใจดีขนาดนั้น ธุรกิจต่าง ๆ ขับเคลื่อนด้วยการจับจ่ายใช้สอยของคนในสังคม การเก็บปลาเน่าไว้จะทำให้ข้องทั้งข้องเดือดร้อน แค่ปลาตัวอื่นเน่าตามยังไม่พอ แต่ลูกค้าก็จะไม่ซื้อปลาจากบ่อชื่อนี้อีก ต่อให้เป็นข้องที่ไม่มีปลาเน่า แต่ชื่อเสียงของบ่อก็บ่นปี้ไปแล้ว ถ้าไม่กำจัดปลาเน่าตัวเดียวให้สิ้นซากเสียแต่แรก

โพสต์ด่าสนุกสนาน แต่จบลงด้วยการขึ้นศาล ขอโทษ ไหว้สวยรวยกระเช้า

ไม่มีใครที่ชอบการโดนด่าหรือเห็นคอมเมนต์ลบ ๆ เกี่ยวกับตัวเองบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอตรง ๆ การบูลลี่ การดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้เกิดความรู้สึกเสียหายทางใจจากใครที่ไหนก็ไม่รู้ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากเกิดบนโลกออนไลน์ ก็มักจะมาจากคนที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวด้วยซ้ำ แน่นอนว่าคนปล่อยผ่านก็คงมี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะใจดี ในเมื่อมันสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ก็คงจะต้องทำให้ได้รับบทเรียนเสียหน่อยว่าการโพสต์หรือคอมเมนต์ด่าคนอื่นสนุกสนานบนโลกออนไลน์จะต้องชดใช้อย่างไร

จำไว้ว่าโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ช่องทางที่เปิดขึ้นมาให้เราไปด่าใครเสีย ๆ หาย ๆ ได้ฟรี ๆ ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย หากอีกฝ่ายเขาฟ้องร้องจนเป็นคดีความขึ้นมาตามสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองตามกฎหมาย เราก็ต้องชดใช้ด้วยการขึ้นโรงขึ้นศาล นั่งเดียวดายหน้าบัลลังก์ ทั้งที่กลุ่มในโซเชียลที่ด่าด้วยกันนั้นแสนจะอบอุ่น คำขอโทษที่ต้องจ่ายด้วยเงินสด แม้กระทั่งการต้องกัดฟันเอ่ยคำขอโทษที่คิดน้อยเกินไปพร้อมยกมือไหว้ปลก ๆ และอาจพ่วงด้วยกระเช้าสวย ๆ อีกหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าจุดจบอาจเป็นเช่นนี้ ถึงอย่างนั้นทำไมมันจึงเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น ยังคงคอมเมนต์ด่าคนอื่นได้สนุกปากเพื่อมาขอโทษในภายหลัง

ภาพเดิม ๆ ที่เราเห็นได้จากคนที่โพสต์ (ด่า) ก่อนที่จะคิด แล้วคู่กรณีเอาเรื่องจริง ๆ คือ “ไหว้สวยรวยกระเช้า” พร้อมทั้งจ่าย “คำขอโทษเป็นเงินสด” ซึ่งก็มีทั้งคนที่จ่ายไหวและคนที่ไม่มีปัญญาจ่าย จนต้องอ้อนวอนกอดขาขอให้ยอมความ ให้กราบเท้าคนที่ตัวเองตามด่าอย่างเอาเป็นเอาตายก็ยอม ทั้งที่ถ้าก่อนโพสต์หรือคอมเมนต์ด่าใครลองคิดให้มากกว่านี้สักนิดถึงผลกระทบที่ตามมา ไม่ทำให้การด่าคนอื่นมันเป็นเรื่องง่ายขนาดนั้น จุดจบก็คงไม่ลงเอยแบบนี้

อกอีแป้นจะแตก ทนนิ่งเฉยไม่ได้ อยากมีส่วนร่วมในการด่าเหลือเกิน

ถึงตรงนี้คงเริ่มเห็นภาพแล้วว่าการโพสต์หรือคอมเมนต์ด่าใครในโซเชียลมีเดีย เพราะทนนิ่งเฉยกับสิ่งที่คนนั้นทำไม่ได้นั้นมันไม่ได้ทำได้ฟรี ๆ การที่เราโพสต์ความคิดส่วนตัวที่อาจจะตรรกะวิบัติแต่ไม่ได้ด่าใคร ถ่ายภาพแต่งตัวล่อแหลมไปนิด หรือแม้กระทั่งการเห็นต่างกันในเรื่องต่าง ๆ ในโลกโซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้แค่ปลายนิ้ว จะมีคนที่รู้สึกว่าอกอีแป้นจะแตกให้ได้ถ้าไม่ได้ตอบโต้เสียบ้างพร้อมจะด่าเราโดยไม่คิดเสมอ ถ้าเราคิดอยากจะหาเงินก้อนใช้พร้อมกระเช้าของขวัญ มีคนยกมือไหว้ตลอดล่ะก็ แค่มีหลักฐานคอมเมนต์ด่าให้ชัดเจนก็พอแล้ว

การโพสต์หรือคอมเมนต์ด่าใครด้วยอารมณ์โมโหหรือเพียงแค่ต้องการจะระบายความรู้สึกของตัวเอง ขอให้คิดให้เยอะ ๆ ว่ามีเงินจ่ายคู่กรณีไหม ทนได้ไหมที่ต้องมานั่งขอโทษเขาออกสื่อทั้งที่ใจจริงรู้สึกเกลียดเหลือเกิน หรือพร้อมไหมที่จะเดินขึ้นศาลในฐานะจำเลย ถ้าทำไม่ได้ ก็จงอย่าได้โพสต์หรือคอมเมนต์ด่าใครลงในโซเชียลมีเดียเด็ดขาด การระบายความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจนั้นมีหลายทาง จะกรี๊ดออกมา จะเขียนมันออกมาใส่กระดาษไว้อ่านคนเดียวพอใจเย็นก็ฉีกทิ้ง จะด่าออกเสียงแต่มีเราได้ยินแค่คนเดียว หรือจะทำปากขมุบขมิบ นึกคำด่าในใจ พร้อมทั้งไถหน้าจอที่ไม่พอใจนั้นเลื่อนผ่านไป วิธีเหล่านี้ล้วนปลอดภัยกว่า เพราะไม่มีใครมารับรู้ความโกรธหรือความรู้สึกเกลียดชังของเรา

เราเป็นแค่คนธรรมดา ไม่สามารถห้ามความรู้สึกโกรธเกลียดใครได้หรอก เพียงแต่ถ้าเราไม่ได้ไปโพสต์ด่าให้ใครเดือดร้อน ก็ไม่มีใครรับรู้กับเรา มันก็จะไม่มีทางเป็นคดีความฟ้องร้องขึ้นมาได้เช่นกัน โกรธเกลียดใครก็ต้องจัดการความรู้สึกตัวเองเงียบ ๆ คนเดียว ไม่จำเป็นต้องไปแสดงออกทางอารมณ์และความคิดที่ไม่น่ารักใส่คนอื่น เราก็จะไม่ตกเป็นหัวข้อในวงสนทนา ไม่ตกเป็นข่าวดังเพราะโดนขุด และไม่โดนใครฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เพราะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอายได้ ในเมื่อเราไม่เคยโพสต์ด่าใครหรือทำร้ายใคร ก่อนโพสต์หรือคอมเมนต์อะไรลงในโซเชียลมีเดีย คิดให้มาก ๆ อย่าให้ตัวเองเดือดร้อน