จับตามอง! ภารกิจสำคัญในอวกาศประจำปี 2022

ปีค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับการสำรวจอวกาศครั้งใหม่ แต่ปีค.ศ. 2022 นี้ก็จะเป็นปีที่มีวิวัฒนาการใหม่ ๆ ที่สำคัญเช่นกัน

NASA’s Space Launch System หรือ จรวดขนส่งของนาซ่า

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า กำลังวางแผนที่จะปล่อยตัวการทดสอบครั้งแรกของ Space Launch System หรือ SLS ในเดือนมีนาคม นาซ่าเรียก SLS ว่าเป็น “จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลก” ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการสำรวจอวกาศ

ทั้งนี้ SLS เป็นจรวดลำแรกที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อบรรทุกทั้งนักบินอวกาศและเสบียงในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ โดยนาซ่ามีกำหนดส่งนักบินอวกาศกลับไปหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) โดยเป้าหมายของโครงการอาร์ทิมิสก็คือการส่งผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

เดิมทีนาซ่าวางแผนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในปีค.ศ. 2024 แต่ บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้ดูแลระบบบริหารการบินของนาซ่า กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า แผนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2025 ซึ่งจะเป็นการไปเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกของอเมริกานับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล 17 (Apollo 17) ของนาซ่าเมื่อปีค.ศ.1972

การปล่อยจรวด SLS ในเดือนมีนาคมนี้จะไม่มีนักบินอวกาศไปด้วย โดยในระหว่างภารกิจทดสอบ นาซ่าจะปล่อยยานอวกาศโอไรออน (Orion) จากจรวด SLS และเดินทางห่างจากโลกเป็นระยะทาง 450,600 กิโลเมตร ซึ่งนาซ่ากล่าวว่าจะเป็นการเดินทางที่ไกลเกินกว่ายานอวกาศใด ๆ ที่เคยถูกสร้างขึ้นมาสำหรับมนุษย์ และคาดว่าภารกิจนี้จะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์

International moon missions หรือ ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ระดับนานาชาติ

หลายประเทศตั้งเป้าส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ในปี 2022

รายงานจากหนังสือพิมพ์ India Today ระบุว่า อินเดียจะพยายามนำหุ่นยนต์สำรวจหรือโรเวอร์ (Rover) ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ภารกิจจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) เกิดขึ้นหลังจากความพยายามในปี 2020 ซึ่งจบลงด้วยการที่ยานลงจอด หรือแลนเดอร์ (Lander) และโรเวอร์ พุ่งชนกับพื้นผิวของดวงจันทร์

อินเดียได้กล่าวว่า ยานโรเวอร์ลำใหม่นี้จะพยายามยืนยันการมีอยู่ของน้ำในรูปแบบของน้ำแข็งบนดวงจันทร์

นอกจากนี้ องค์การอวกาศญี่ปุ่นวางแผนที่จะเปิดตัว Smart Lander for Investigating the Moon หรือ SLIM ในเดือนเมษายน ปี 2022 ทางหน่วยงานกล่าวว่า ภารกิจดังกล่าวได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อแสดงวิธีการลงจอดบนดวงจันทร์โดยใช้ยานสำรวจขนาดเล็ก

iSpace บริษัทสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วว่า จะขนส่งยานสำรวจโรเวอร์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังดวงจันทร์ในปี 2022 นอกจากนี้บริษัท iSpace จะจัดหายานแลนเดอร์เพื่อบรรทุกยานสำรวจโรเวอร์อีกด้วย

ทั้งนี้ ยานแลนเดอร์จะถูกปล่อยตัวจากจรวดฟอลคอน-9 (Falcon 9) ที่สร้างโดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของสหรัฐ

ทางด้านรัสเซีย สำนักข่าว TASS ของรัสเซียรายงานว่า ประเทศของตนกำลังวางแผนที่จะปล่อยยานแลนเดอร์ลงบนดวงจันทร์ในเดือนกรกฎาคม ภารกิจลูนา 25 (Luna 25) มีเป้าหมายที่จะนำนักสำรวจลงจอดในบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ยานอวกาศจะศึกษาวัตถุบนพื้นผิวดวงจันทร์ เช่นเดียวกับส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์อีกด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน อิลอน มัสค์ (Elon Musk) ประธานบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กล่าวว่า บริษัทของเขาจะพยายามส่งยานอวกาศสตาร์ชิพ (Starship) ที่นำกลับมาใช้ใหม่ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2022 ซึ่งจะเป็นการบินทดสอบวงโคจรครั้งแรกสำหรับยานอวกาศลำนี้ มัสค์กล่าวว่า สเปซเอ็กซ์จะทำการบินทดสอบหลายครั้งก่อนที่จะเริ่มส่งดาวเทียมและภารกิจอื่น ๆ ด้วยจรวดสตาร์ชิพในปี 2023

ทั้งนี้ องค์การนาซ่ามีข้อตกลงกับสเปซเอ็กซ์ในการใช้สตาร์ชิพในการขนส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ มัสค์ได้กล่าวด้วยว่า เขายังวางแผนที่จะใช้จรวดนี้นำนักบินอวกาศลงจอดบนดาวอังคารอีกด้วย

ExoMars mission ภารกิจ ExoMars

รัสเซียจับมือยุโรปร่วมภารกิจส่งยานสำรวจโรเวอร์ไปยังดาวอังคาร ซึ่งคาดว่าจะถูกปล่อยตัวในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2022 ภารกิจเอ็กโซมาร์ส (ExoMars) จะนำยานสำรวจโรเวอร์ โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin ) ลงสู่พื้นผิวดาวอังคารเพื่อค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในอดีต

เดิมทีภารกิจนี้จะมีขึ้นในปี 2020 แต่ต้องล่าช้าลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

Asteroid exploration การสำรวจดาวเคราะห์น้อย

ภารกิจไซคี (Psyche) ของนาซ่าคาดว่าจะถูกปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม โดยยานอวกาศไซคีจะเดินทางเป็นเวลาสามปีครึ่งไปยังดาวเคราะห์น้อยโลหะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส

ทั้งนี้ เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ของไซคีจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจจะแยกออกจากกันในระหว่างการพุ่งชนที่รุนแรงในระหว่างการก่อตัวของระบบสุริยะ

และคาดว่ายานอวกาศดาร์ท (DART) ของนาซ่าจะไปถึงดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส (Didymos) ในระหว่างวันที่ 26 กันยายนถึง 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ยานอวกาศจะพยายามโจมตีดาวเคราะห์น้อยที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อทดสอบว่าการชนนั้นส่งผลต่อเส้นทางของวัตถุในอวกาศอย่างไรบ้าง