คิดจะติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” ต้องรู้อะไรก่อนบ้าง

เชื่อว่าเวลานี้คนครึ่งค่อนประเทศกำลังเผชิญปัญหา “ค่าไฟแพง” แบบถ้วนหน้า ชนิดที่ว่าเห็นบิลค่าไฟก็แทบจะหน้ามืดไปตาม ๆ กัน แน่นอนว่าการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น (แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ อีก) เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อนสุด ๆ ผู้คนไม่สามารถอยู่ได้หากไม่เปิดแอร์ ด้วยเ้หตุนี้จึงเริ่มมีคนออกมาแชร์ความคุ้มค่าของการ “ติดโซลาร์เซลล์” ว่ามันช่วยให้เราประหยัดเงินค่าไฟได้จริง ๆ

ในขณะเดียวกัน การติดแผงโซลาร์เซลล์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ค่าไฟแพงขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดที่จะช่วยประหยัดทรัพยากรและดีต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ถึงอย่างนั้น การติดโซลาร์เซลล์เป็นการลงทุนที่ใช้ทุนสูง แถมไม่ได้เหมาะกับทุกครัวเรือนด้วยและที่สำคัญ การติดโซลาร์เซลล์บางประเภทต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อน มิเช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ดังนั้น ก่อนที่คิดจะติดโซลาร์เซลล์ คุณจำเป็นต้องรู้เรื่องเหล่านี้ก่อน เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด

โซลาร์เซลล์คืออะไร

โซลาร์เซลล์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นตัวผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ปรากฏการณ์การนำแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้านั้นถูกทดลองขึ้นครั้งแรกในปี 1839 โดยนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ A.E. Becquerel เขานี่เองที่เป็นผู้สร้างเซลล์แสงอาทิตย์เป็นตัวแรกของโลก

แต่เซลล์แสงอาทิตย์ในทางปฏิบัติที่นำมาใช้งานได้นั้น เป็นผลงานของ Daryl Chapin, Calvin Souther และ Gerald Pearson ได้คิดค้นเทคโนโลยีการสร้างรอยต่อ P-N ของผลึกซิลิคอนแบบกระจาย จนเกิดเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเซลล์แสงอาทิตย์ชุดแรกสร้างขึ้นในปี 1954 แต่เดิมการผลิตพลังงานไฟฟ้ารูปแบบนี้ถูกใช้ในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าในด้านอวกาศดาวเทียมเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำมาใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น และมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง

ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์มานานแล้ว ในแง่ของการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า เพิ่งจะเริ่มในปี 2519 โดยมีหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิแพทย์อาสาฯ เป็นผู้ดูแล และเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เริ่มมีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าในปี 2526 และช่วงท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ที่ส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมโยธาธิการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลหลัก

ระบบโซลาร์เซลล์มี 3 แบบ

1. ระบบออนกริด (On Grid)

ระบบนี้สามารถใช้ไฟได้จาก 2 ทาง คือใช้ทั้งไฟจากเสาไฟของการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์โดยไม่ต้องทำระบบสลับไฟ ระบบ On Grid เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน (ใช้ไฟช่วงกลางวันมาก) เนื่องจากไม่มีแบตเตอรี่ในการสำรองไฟ เป็นการผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้เลย ค่าไฟจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม หากกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ของเราไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ ระบบจะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้โดยอัตโนมัติ เราสามารถขายไฟคืนได้ หากผลิตไฟได้เกินความต้องการ ดังนั้น ก่อนติดตั้งจึงต้องขออนุญาตการไฟฟ้าก่อนเพื่อทำสัญญาขายไฟ ปัจจุบันระบบนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะคืนทุนเร็วที่สุด

2. ระบบออฟกริด (Off Grid)

เป็นแบบอิสระ เพราะไม่ต้องทำระบบเชื่อมต่อใด ๆ กับการไฟฟ้า ไม่ต้องขออนุญาตก่อนติดตั้ง ไม่ต้องเดินสายไฟ สามารถใช้ไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากระบบนี้ต้องมีแบตเตอรี่ เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟจะส่งไปที่คอนโทรลเลอร์ เพื่อปรับแรงดันไฟให้สม่ำเสมอ แล้วจ่ายไฟเข้าสู่การเก็บในแบตเตอรี่ ผ่านอินเวอร์เตอร์แปลงกระแสไฟ พร้อมจ่ายไฟสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

3. ระบบไฮบริด (Hybrid)

ระบบไฮบริดนี้เป็นส่วนผสมระหว่างระบบ Off Grid และ On Grid สามารถใช้ไฟได้จากการไฟฟ้า ไฟที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ และไฟสำรองที่ผลิตได้เกินการใช้งานไว้ได้ที่แบตเตอรี่ จึงสามารถดึงมาใช้ในช่วงเวลากลางคืนหรือช่วงที่ไฟตกได้ และหากไม่เพียงพอระบบก็จะดึงจากการไฟฟ้ามาใช้ ช่วยลดค่าไฟได้มาก แต่ราคาการติดตั้งยังสูง ทำให้คืนทุนได้ช้า จึงยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนหากไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟมากเท่าที่ควร นอกจากนี้ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟให้กับภาครัฐได้

แผงโซลาร์เซลล์มี 3 ประเภท

  • โมโน – แผงโซลาร์เซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์ มีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมตัดมุมเรียงต่อกัน ทำให้ดูเหมือนมีจุดขาว ๆ อยู่ตลอดทั้งแผง แผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ผลิตจากซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์สูง ใช้ซิลิคอนชิ้นเดียวในการผลิตเซลล์แต่ละชิ้น ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงตามไปด้วย โดยอยู่ที่ 17-20 เปอร์เซ็นต์ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด สามารถใช้ได้นานมากกว่า 25-40 ปี
  • โพลี – แผงโซลาร์เซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์ แผงโพลีมีคุณภาพรองลงมาจากแผงโมโน ลักษณะจะเป็นตารางสี่เหลี่ยมเช่นกัน แต่บริเวณเหลี่ยมจะไม่มีการตัดมุมเหมือนแผงโมโน การผลิตแผง โพลีจะใช้ซิลิคอนอัดรวมกันเป็นแผง ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 15-19 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพต่างกับแผงโมโนไม่มากนัก ข้อดีคือมีราคาถูกกว่า และลดการทิ้งขยะเศษเหลือของซิลิคอนระหว่างผลิต มีอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี
  • อมอร์ฟัส – แผงโซลาร์เซลล์แบบอมอร์ฟัส เป็นประเภทที่ไม่ได้ใช้ซิลิคอนผลิต แต่เป็นการใช้ Thin Film Technology เคลือบ “สาร” ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าได้ ไว้บนแผงที่ทำมาจากแก้วหรือพลาสติก หน้าตาของแผงจะมีลายเส้นตรงถี่ ๆ เรียงต่อกัน ไม่ได้เป็นตารางเหมือนอีกสองชนิดข้างต้น มีราคาถูกที่สุด และสามารถทำงานได้แม้จะอยู่ในที่แสงน้อย รวมถึงการเคลือบสารบนพลาสติกได้ ทำให้ถูกนำไปปรับใช้กับพื้นที่ที่มีความโค้งมนได้ แต่มีข้อสังเกตุในด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงอมอร์ฟัสจะมีไม่สูงนัก รวมทั้งอายุการใช้งานสั้นประมาณ 5 ปีเท่านั้น จึงไม่เหมาะนำมาติดตั้งในภาคอุตสาหกรรมและบ้านเรือน

ก่อนตัดสินใจติดตั้ง ควรพิจารณาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านก่อน

เมื่อเริ่มมีความคิดที่อยากจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือต้องสำรวจก่อนว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน โดยการดูบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจะเป็นเหมือนแนวทางให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตเท่าไร หรือคุ้มค่าพอที่จะติดตั้งหรือไม่ หากติดตั้งไปแล้วจะประหยัดค่าไฟไปได้มากน้อยแค่ไหน

ที่สำคัญ อย่าลืมสำรวจไลฟ์สไตล์การใช้ไฟฟ้าของที่บ้านด้วยว่าเป็นอย่างไร หากบ้านของคุณใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน มีคนอยู่บ้านตอนกลางวันทั้งวัน เปิดแอร์เป็นประจำ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาก เช่น เป็นโฮมออฟฟิศ มีผู้ป่วยติดเตียง ร้านค้า ร้านกาแฟ หรือมีการใช้อุปกรณ์ที่กินไฟมาก จะทำให้ได้ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เต็มที่ โดยเฉพาะระบบที่ผลิตแล้วใช้ได้เลย และสามารถใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้ จะคุ้มค่าคืนทุนไว แต่ถ้าหากอยู่บ้านเฉพาะตอนเย็น ใช้ไฟมากช่วงกลางคืน ก็อาจไม่เหมาะที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เท่าไรนัก เพราะโซลาร์เซลล์อาศัยแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน

เรื่องของ “หลังคาบ้าน” ก็เป็นเรื่องสำคัญ

เนื่องจากมาตราฐานของแผ่นโซลาร์เซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1×2 เมตร และ 1 แผ่น มีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ดังนั้น คุณต้องตรวจสอบหลังคาบ้านและวัสดุที่ใช้ปูหลังคาก่อน บ้านต้องมีโครงสร้างหลังคาแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี หากเกิดรอยแตก รอยร้าว รอยรั่ว หรือตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ควรทำหลังคาบ้านใหม่ก่อน เพราะการติดโซลาร์เซลล์เป็นการติดตั้งระยะยาวหลายสิบปี หากหลังคาบ้านไม่แข็งแรง จะเกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักเกินได้ ที่สำคัญ ต้องไม่มีเงาต้นไม้ใหญ่ หรืออาคารรอบข้างมาบดบังแสงแดด สำหรับพื้นที่ที่ใช้ติดตั้ง จะใช้พื้นที่ 4-5 ตารางเมตร/ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง

นอกจากนี้ อย่าลืมให้ความสำคัญกับทรงของหลังคาบ้าน แม้ว่าโซลาร์เซลล์จะติดตั้งกับทรงหลังคาได้ทุกทรง แต่บางทรงจะติดตั้งได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึมด้วย

  • หลังคาทรงจั่ว เป็นทรงหลังคาที่เป็นที่นิยมในไทย เพราะระบายความร้อนได้ดี ลักษณะของทรงหลังคาจะสูง ลาดชัน เป็นทรงที่ติดโซลาร์เซลล์ได้ง่ายที่สุด
  • หลังคาทรงปั้นหยา จะมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อย และเป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก ข้อดีของหลังคาประเภทนี้ที่สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการติดโซลาร์เซลล์ สามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา
  • หลังคาทรงเพิงแหงน สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว เพราะมีพื้นที่หลังคาเยอะและกว้าง แต่ต้องระวังในเรื่องของการรั่วซึมเมื่อฝนตก เนื่องจากความลาดเอียงของหลังคาประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้ระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ทิศที่เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือ ทิศใต้ เพราะเป็๋นทิศที่จะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5-15 องศา เพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่ จะช่วยให้ผลิตไฟได้ดีที่สุด

ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร

ใช้งบประมาณ 40,000-45,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้ง ดังนั้น ราคาการติดตั้งนั้นจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท มีระยะเวลาคืนทุนโดยประมาณ 6 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นโซล่าเซลล์ ความยากง่ายในการติดตั้ง และจำนวนแผ่นที่จะติดตั้งด้วย ควรสอบถามราคาจากผู้ให้บริการติดตั้งหลายรายเปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจ และเปรียบเทียบบริการหลังการขาย เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ประจำปี การทำความสะอาดแผง อายุการรับประกันสินค้า และหากลงทุนติดตั้งขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะทำให้ค่าลงทุนต่อ 1 กิโลวัตต์ถูกลง ควรเลือกผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัท จากนั้นทำการเปรียบเทียบเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ

ราคาต้นทุนไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ตลอดอายุการใช้งานคิดอย่างไร

ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ หากคิดตลอดอายุระบบโซลาร์เซลล์ 15-20 ปี จะผลิตไฟได้ 360 หน่วย/เดือน x 12 เดือน x 15 ปี = 64,800 หน่วย เมื่อคิดค่าลงทุน 120,000-135,000 บาท จะมีราคาต้นทุนประมาณ 2 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนต่อหน่วยข้างต้น ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี เช่น การล้างแผง การตรวจสอบรายปี อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

ค่าไฟฟ้าที่จะประหยัดได้และการคืนทุนคิดอย่างไร

ยกตัวอย่างระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 12 หน่วย (หรือ 360 หน่วยต่อเดือน) หากราคาค่าไฟการไฟฟ้าคิดเป็นหน่วยละ 5 บาท จะประหยัดค่าไฟได้ 1,800 บาทต่อเดือน (หรือปีละ 21,600 บาท) ส่วนวิธีคิดระยะเวลาคืนทุน จากการลงทุนขนาด 3 กิโลวัตต์ ค่าลงทุนประมาณ 120,000-135,000 บาท ประหยัดได้ปีละ 21,600 บาท ดังนั้น มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี แต่ถ้าหากสามารถใช้ไฟฟ้าได้แบบเต็มกำลังที่ผลิตได้ และใช้แผงที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะคืนทุนได้เร็วขึ้นด้วย

เราจะเลือกอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องเลือกผู้ให้บริการติดตั้ง ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวนมากราย ทั้งการไฟฟ้า และบริษัทที่ให้บริการติดตั้ง โดยเรื่องของการขออนุญาตต่าง ๆ ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการติดตั้งจะเป็นผู้ดำเนินการให้ด้วย

สำหรับแผงโซลาร์ที่มีคุณภาพ ควรตรวจสอบตามมาตรฐานที่ได้รับ มอก. 61215 หรือมาตรฐาน IEC 61215 เป็นอย่างน้อย ส่วนอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ สามารถตรวจสอบรายชื่อรุ่นที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้การรับรองได้ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า รวมถึงศึกษาข้อกำหนดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการเชื่อมต่อระบบของแต่ละการไฟฟ้า ได้จากเว็บไซต์ของ กฟน. กฟภ.

ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เพื่อความปลอดภัย และการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ติดตั้งจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1. ยื่นใบอนุญาติก่อสร้าง

เพื่ออาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเทศบาล/ อบต. ในเขตพื้นที่ เพื่อทำการดัดแปลงโครงสร้างบนหลังคาก่อนทำการติดตั้ง เมื่อได้รับหลักฐานการอนุญาตติดตั้งจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็ทำการติดตั้งได้เลย

2. ลงทะเบียน

เพื่อแจ้งประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ที่สำนักงาน กกพ. หรือบนเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ได้ที่ https://www.cleanenergyforlife.net/ เมื่อผู้ติดตั้งได้รับหนังสืออนุญาตประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตจากทากกพ. เรียบร้อยแล้ว จะต้องดำเนินการประสานงานต่อกับทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเขตพื้นที่ของการติดตั้ง เพื่อเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าต่อไป

3. แจ้ง กฟน. หรือ กฟภ. (PEA)

ทำการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการขายไฟหรือขอขนานไฟผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้า MEA ที่ https://myenergy.mea.or.th/ และลงทะเบียนของ PEA ได้ที่ https://ppim.pea.co.th:4433/app/project/eco (ในส่วนของ PEA ไม่เข้าร่วมโครงการขายไฟให้เตรียมเอกสารไปยื่นกับการไฟฟ้าเขตของพื้นที่นั้น ๆ)

4. ยื่นสำเนาหนังสือรับ

เมื่อแจ้งยกเว้นการขออนุญาตฯ จาก กกพ. และ กฟน. หรือ กฟภ. ผ่านเรียบร้อย จะต้องไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ค่าขนาดไฟ และทำสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้า (ในกรณีเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน) จากนั้นการไฟฟ้าจะเข้าไปตรวจสอบสายภายใน และระบบการผลิต เมื่อผ่านตามข้อกำหนดต่าง ๆ แล้ว การไฟฟ้าก็จะทำการเปลี่ยนประเภทมิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นมิเตอร์สำหรับโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ และทำการเชื่อมต่อ COD กับระบบของการไฟฟ้า จากนั้นก็จะสามารถเริ่มใช้งานโซล่าเซลล์ระบบออนกริดได้เลย

การดูแลแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อติดโซลาร์เซลล์เรียบร้อยแล้ว ควรหมั่นดูแลและตรวจสอบสภาพแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เพราะหากขาดการดูแลและตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพการรับแสงน้อยลง ในการดูแลรักษาสามารถตรวจสอบได้ดังนี้

  • หมั่นตรวจสอบสภาพของแผงโซล่าเซลล์ว่ามีรอยร้าว รอยแตก สีของแผงต่างไปจากเดิมหรือไม่
  • ขี้นกคือศัตรูตัวฉกาจของแผงโซลาร์เซลล์ คุณควรทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ เพื่อขจัดคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดบนแผง อุปกรณ์ที่สามารถใช้ทำความสะอาดได้ควรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดรอยข่วน เช่น แปรงขนไนลอน ผ้า หรือฟองน้ำ นำไปชุบด้วยน้ำเปล่า เพื่อล้างทำความสะอาดได้ ความถี่ในการทำความสะอาดควรอยู่ที่ 4-5 ครั้งต่อปี และควรเลือกล้างในช่วงเช้า
  • เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากแมลงหรือสัตว์ตัวเล็ก คุณควรทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ กล่องอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • การเลือกใช้บริการผู้เชี่ยวชาญในตรวจสอบและทำความสะอาด มีผู้ให้บริการหลายบริษัทที่เปิดรับตรวจสอบและทำความสะอาด แต่ราคาในการให้บริการก็จะแตกต่างกันออกไป