การผูกขาดทางเทคโนโลยี ภัยคุกคามที่บ่อนทำลายสังคม

ในโลกของธุรกิจ มักจะเกิดการแข่งขันที่ดุเดือดเสมอ ไม่ว่าจะแข่งกันด้วยราคา แข่งกันด้วยคุณภาพ แข่งกันด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ว่าเจ้าไหนจะสรรหาทำเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าน่าลองเพราะเป็นของใหม่ คนที่ได้ประโยชน์คือผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าและบริการจากเจ้าไหนก็ได้ที่คิดว่าคุ้มค่าและตอบโจทย์ชีวิตตนเองมากที่สุด และส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าและบริการในตลาดก็จะคละ ๆ กันไป มียักษ์ใหญ่ของวงการก็จริง แต่รายเล็กรายน้อยก็ยังอยู่ได้ หากพวกเขามีกลยุทธ์ที่ดีและแข็งแกร่งมาต่อกรกับรายใหญ่

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงกังวลเรื่อง “การผูกขาด” เพราะมันเป็นการครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จและบีบไม่ให้มีการแข่งขันเกิดขึ้น ทำให้ “ไม่มีคู่แข่งที่จะเข้ามาผลิตสินค้าและการบริการ” แม้ว่าทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดจะหมายถึงการที่ตลาดมีผู้ขายสินค้าเจ้าเดียว แต่ในทางกฎหมาย แค่ในตลาดเหลือผู้แข่งขันน้อยรายลงเรื่อย ๆ มันก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การผูกขาดได้ และยิ่งธุรกิจนั้นมีอิทธิพลมากขนาดที่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้ตามใจตัวเอง จึงอาจไม่ได้หมายถึงการควบคุมตลาดอย่างเดียว แต่อาจเป็นการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ หรือกำจัดคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้านเทคโนโลยี มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้าที่กำลังพยายามจะทำให้ตนเองมีอิทธิพลสูงสุดในตลาดและใช้อำนาจนี้เหนือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยการพยายามค่อย ๆ ทำลายคู่แข่งไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้ และเริ่มที่จะดำเนินกิจการแบบผูกขาดมากขึ้นทุกที คู่แข่งที่มาในทิศทางเดียวกับตนจะต้องถูกกำจัด เพื่อให้เทคโนโลยีของพวกเขาสามารถรวมเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างทุกที่ทั่วโลก

การแข่งขันระดับโลก มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอยู่ 4 แห่งที่มีปัญหาด้านการผูกขาดทางเทคโนโลยี ได้แก่ Amazon, Apple, Facebook (Meta) และ Google เป็นเหตุให้มีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาแล้ว เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีของผู้ประกอบการในตลาด และเพื่อให้บริษัทเล็กมีอำนาจในการแข่งขันกับบริษัทใหญ่อย่างเป็นธรรม แต่พวกเขามักมีวิธีการหลากหลายในการกำจัดคู่แข่งทั้งบริษัทใหญ่และ Start-Up หากมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเสิร์ฟต่อผู้บริโภค ซึ่งนั่นอาจเป็นภัยคุกคามของพวกเขา

ในขณะเดียวกัน หากหันกลับมามองในประเทศ กรณีของกลุ่มทรูที่เข้าซื้อกิจการจากดีแทค และเอไอเอสที่เข้าซื้อ 3BB ก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เพราะกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินกิจการเช่นนี้ จริง ๆ แล้วก็มีผู้แข่งขันน้อยรายอยู่แล้ว การฮุบกิจการที่เคยเป็นคู่แข่งก็จะยิ่งทำให้คู่แข่งน้อยลงไปอีก แทนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาจูงใจลูกค้าให้หันไปใช้งาน กลับทำให้ประชาชนมีตัวเลือกน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจเข้าขั้นถูกมัดมือชกว่าต้องใช้ ๆ ไป เพราะไม่มีตัวเลือกมากมาย

การควบรวมของดีลใหญ่ ๆ 2 ดีลในไทยในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จะทำให้เกิด “รายใหญ่” ที่เริ่มมีอำนาจเหนือตลาดขึ้นเรื่อย ๆ และอาจใช้อำนาจนั้นเพื่อความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจต่อไป

“ซื้อคู่แข่ง” เพื่อกลืนกินและกำจัดให้พ้นทาง

กลยุทธ์แรก ๆ ที่เจ้าของธุรกิจเงินหนามักจะทำเพื่อกำจัดคู่แข่ง คือ “ซื้อคู่แข่ง” เน้นกลืนกินให้คู่แข่งหายไปออกจากการแข่งขัน มากกว่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้ดีขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน หรือ “ซื้อมาแล้วเชือดทิ้ง” กับบริษัทขนาดเล็กที่ถูกซื้อกิจการจากนายทุนเงินหนาแล้วกำจัดทิ้งไปให้สิ้นชื่อจากตลาดอย่างถาวร เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นทั้งเจ้าของตลาดและเป็นผู้ควบคุมตลาดเสียเอง ซึ่ง Big Tech ทั้ง 4 อย่าง Amazon, Google, Facebook (Meta) และ Apple ล้วนเคยทำแบบนี้ในกำจัดคู่แข่งมาแล้วทั้งนั้น เพื่อให้บริษัทของตัวเองก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดแบบที่แทบจะปราศจากคู่แข่ง

“การซื้อดีกว่าการแข่งขัน” มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งที่เข้าซื้อ Instagram ในปี 2012 และจากเหตุการณ์นั้น ทำให้ Facebook เริ่มถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหมายหัวเรื่องที่ไล่ซื้อกิจการอื่นไปทั่วเพื่อที่จะได้ครองตลาดอยู่เจ้าเดียว ชัดเจนจากจดหมายเวียนในบริษัทที่ระบุว่า Instagram เป็นภัยคุกคามของ Facebook ทำให้เขาพร้อมที่จะเข้าซื้อบริษัทคู่แข่งมาเป็นของตัวเองเสียให้สิ้นเรื่อง

สำหรับกรณีดีลเด็ดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน 2 ดีล อย่างการควบรวมของ “ทรู-ดีแทค” และ “เอไอเอส-ทริปเปิลที บรอดแบนด์” ประการหนึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าจะล้มเจ้าที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดก่อนหน้าได้ก็ต้องควบรวมเอาฐานลูกค้าของ 2 เจ้ามาเหลือเป็นเจ้าเดียวเพื่อให้ได้เป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่สุด ดีลทรู-ดีแทคเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนดีลเอไอเอส-ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่คนก็มองออกว่ามันเป็นการเปิดเกมแลกหมัดเพื่อโต้ตอบกัน จากที่ตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและตลาดโทรคมนาคมในไทยมีการแข่งกันกันไม่กี่เจ้า ก็เข้าสู่ยุคผู้เล่นน้อยรายมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่เกิดขึ้น หากมองผิวเผินมันก็คือการแข่งขันทางธุรกิจธรรมดา ๆ ใคร ๆ ก็อยากให้ธุรกิจตนเองขึ้นเป็นที่หนึ่งในตลาดอยู่แล้ว แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่ว่าใครเป็นผู้ชนะในสงครามอันดุเดือดนี้ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการไล่ฮุบกิจการคู่แข่งของคนรวย คือ ประชาชนมีตัวเลือกน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อคู่แข่งน้อยลง โอกาสที่จะเกิดการผูกขาดก็มีอยู่สูง นั่นหมายความในอนาคตกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดกิจการไว้จะทำอะไรก็ได้ ประชาชนต้องแบกรับไว้หมด เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นให้หนีไปซบเลย ถ้าเจ้านี้ค่าบริการแพงก็อาจต้องทนจ่ายไป ในเมื่อมีอยู่ไม่กี่เจ้า

การซื้อกิจการคู่แข่งเพื่อผลักดันให้ตนเองขึ้นมายืนในจุดที่เกือบจะผูกขาดตลาด อาจจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการผูกขาดตลาด ใช้สมองน้อยกว่าการคิดกลยุทธ์หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่มาต่อสู้แข่งขันกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ การใช้เงินแก้ปัญหา คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุดก็ย่อมเป็นเจ้าของกิจการผู้มีเงินหนาอยู่แล้ว แต่คนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดก็คือรายย่อยผู้บริโภคนั่นเอง ถูกกำจัดหมด และลดทางเลือกของผู้บริโภคให้เหลือเลือกได้ไม่กี่เจ้าหรือเลือกไม่ได้เลย และขัดขวางนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ควรจะสร้างสรรค์ขึ้นมาแข่งขันกันเพื่อแย่งลูกค้า

ซื้อไม่ได้ เขาไม่ขาย ก็เลียนแบบซะเลยสิ

อย่างกรณีล่าสุดที่กำลังขึ้นกับ Facebook คือแผนการปรับหน้าฟีด จากเดิมที่จุดเด่นของ Facebook คือการเน้นการมองเห็นโพสต์จากบัญชีที่มีการติดตามเป็นหลัก ซึ่งเป็นการปฏิสัมพันธ์ในเชิงที่ผู้ใช้งานเป็นคนยินยอมเองว่าจะติดตามคนนี้ จะเป็นเพื่อนกับคนนี้ ยินดีที่จะเห็นและรับข้อมูลข่าวสารจากเพจนี้ (ถึงได้กดติดตาม ถ้าไม่อยากเห็นแล้วก็จะยกเลิกการติดตามเอง) มาเป็นโพสต์ที่ “แนะนำ” มากขึ้น แนะนำแบบที่ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าจะมาจากที่ไหน เพื่อล่อลวงให้ผู้ใช้งานยังคงอยู่ในแพลตฟอร์มตนเองไปเรื่อย ๆ ไม่กล้ากดออก ซึ่งนี่เป็นอัลกอริธึมเดียวกันกับที่ TikTok ใช้

ทำให้ทุกวันนี้ผู้ใช้งาน Facebook เริ่มจะสับสนแล้วว่าตัวเองกดเข้าแอปฯ ไหนกันแน่ กด Facebook แต่ทำไมไม่ค่อยจะเจอคนรู้จัก ไม่ค่อยเจอเพจที่ติดตาม แต่มักจะเจอแต่อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ AI ส่งมาแนะนำกับเราว่าเราน่าจะต้องเห็นโพสต์นี้นะ รวมถึงฟีเจอร์ Reels ที่ Facebook พยายามทำเพื่อจะตอบโต้กับ TikTok โดยตั้งความหวังว่าแผนนี้จะทำให้ยอดผู้ใช้งานของแอปฯ ที่ชะลอการเติบโตมานานกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่น ที่หันไปหา TikTok กันหมดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลูกเล่นมักชักจะเป็น TikTok มากเข้าไปทุกที

จึงน่าสนใจว่าสุดท้ายแล้ว ที่ Facebook พยายามจะเลียนแบบคู่แข่งก็เพราะเห็นว่าอัลกอริธึมแบบนี้ทำให้ TikTok แซง Facebook ได้อย่างนั้นเหรอ แล้วเลียนแบบไป ๆ มา ๆ Facebook จะกลายเป็น TikTok สาขา 2 หรือไม่ Facebook จะทิ้งจุดเริ่มต้นของตัวเองที่เชื่อมโยงเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก ให้เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ มาเน้นตอบโต้คู่แข่งด้วยการ ปรับหน้าฟีดให้เห็นเพื่อนน้อยลง แต่แสดงผลที่ได้จาก “การแนะนำ” ของ AI มากขึ้น โดยสิ่งที่ AI นำเสนออาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพื่อนหรือผู้ที่เราติดตามเลยด้วยซ้ำ จะทำแบบนี้จริงเหรอ

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เรื่องธรรมดาของระบบเสรีทุนนิยม

ระบบเสรีทุนนิยมมักตามมากด้วยการผูกขาดเสมอ ธรรมชาติของการแข่งขันในโลกธุรกิจอาจไม่ต่างอะไรกับกระบวนการทางธรรมชาติ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เพราะปลาเล็กไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะต่อสู้ และปลาใหญ่ก็ต้องการอาหาร แค่ปลาใหญ่อ้าปากงับก็โดนกลืนลงท้องได้ง่าย ๆ แล้ว หรือเหยื่อตัวเล็ก ๆ ก็ต้องตกเป็นของผู้ล่าเข้าสักวัน แม้ว่าปกติธรรมชาติจะมีกลไกในการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศอยู่แล้ว ถึงอย่างนั้นกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติก็อาจทำให้เหยื่อสูญพันธุ์ไปอยู่ดี

หากเป็นกรณีระบบเสรีทุนนิยม ก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดการผูกขาดอยู่ที่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง หรือควบคุมไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์เกินขอบเขต ทั้งหมดอยู่ที่การตั้งกติกาของภาครัฐว่าเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนหรือมีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่ากัน อยากให้สังคมถูกครอบงำจากกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มหรืออยากให้สังคมมีความเป็นธรรมจากการแข่งขันตามกลไกตลาดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่งัดมาเรียกลูกค้า อย่างไรก็ดี มันอาจจะอุดมคติเกินไป เพราะต้องตั้งคำถามต่อว่าภาครัฐจะมีอำนาจต่อรองกับเอกชนได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อภาครัฐเองก็หวังพึ่งประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ส่วนใหญ่ไว้กับเอกชนและนายทุน

การครอบงำด้วยทัศนคติและค่านิยม

จุดอ่อนที่คนทุกคนมีเหมือน ๆ กัน “ความขี้เกียจ” และ “รักความสะดวกสบาย” จนอาจตกเป็นทาสการตลาดโดยไม่รู้ตัว ถ้าผู้บริโภคติดใจอยู่กับทางเลือกไม่กี่เจ้าที่มี มันก็ยิ่งเข้าทางกลุ่มนายทุน แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังถือว่าผู้บริโภคมีโอกาสได้เลือกเองว่าจะใช้งานงานแบรนด์ไหน

เมื่อครั้งที่ Google ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกายื่นฟ้องในข้อหาทำผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า โดยการผูกขาดบริการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตและการโฆษณาออนไลน์ ฝั่งของ Google ได้โต้ตอบว่าธุรกิจที่ Google ทำอยู่ยังคงมีการแข่งขัน เพราะ Google ไม่ใช่เจ้าเดียวในตลาด (แต่เป็นเจ้าใหญ่) ในทางปฏิบัติบริษัทก็ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก และตอบกลับไปว่าที่ผู้คนใช้ Google เป็นเครื่องมือในการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต ก็เพราะพวกเขาเลือกที่จะใช้ ไม่ได้ใช้เพราะถูกบังคับให้ใช้หรือไม่มีทางเลือกอื่นให้ใช้

ลักษณะนี้คือการกล่าวอ้างว่าที่ลูกค้าใช้งาน Google เกิดมาจากความจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) เอง จึงเกิดการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ใช้บริการก็มีอารมณ์และความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ จากการที่คุณภาพของสินค้าหรือบริการสามารถตอบสนองและช่วยส่งเสริมลูกค้าได้ ทำให้แบรนด์มีคุณค่า ลูกค้าจึงใช้บริการซ้ำ และติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ของแบรนด์ มันเป็นความรู้สึกที่ประกอบไปด้วยทัศนคติ ความเชื่อ ความปรารถนา จนเป็นความภักดีที่เกิดขึ้นในจิตใจจากความรู้สึกที่ดีกับแบรนด์ และการสัมผัสกับแบรนด์ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ

อาจจะเห็นภาพได้ชัดหากเปรียบเทียบกับกรณีที่ Internet Explorer ปิดตำนานไป Microsoft ได้ส่ง Microsoft Edge ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันมาลงตลาดเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งอื่น ๆ ที่ Internet Explorer สู้ไม่ได้มานานแล้ว เพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ให้น่าสนใจ ปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีกว่าของเดิม รวมถึงนำจุดด้อยของคู่แข่งมาพัฒนาเพื่อการใช้งานที่ดีกว่า มีผลการทดสอบทางระบบนู่นนั่นนี่ว่ามันเจ๋งกว่าคู่แข่งอย่าง Google Chrome นะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนที่ใช้และพึงพอใจกับ Google Chrome อยู่แล้วจะเปิดใจหันไป “ลอง” ใช้งาน Microsoft Edge

ต้องบอกก่อนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่หลายคนยังเข็ดขยาดกับผลิตภัณฑ์เก่าของ Microsoft ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทเดียวกัน จึงเกิดความไม่มั่นใจว่ามันจะดีกว่ากันได้แค่ไหน และอีกส่วนก็ยังพึงพอใจที่จะใช้งาน Google Chrome อยู่ดี แม้ว่ามันอาจจะด้อยกว่าของใหม่ที่พยายามนำจุดด้อยของคู่แข่งไปพัฒนาให้ดีกว่า แต่ที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันมันก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดเป็นปัญหาจนต้องหันไปหาของใหม่ที่ประกาศปาว ๆ ว่าดีกว่า มันยังใช้งานได้ดีและผู้ใช้ก็คุ้นเคยกับฟีเจอร์ของมันมากกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลาทำความคุ้นเคยกับของใหม่

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าความจงรักภักดีในแบรนด์จะหมายความว่าต่อให้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ ไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนาดีขึ้น แล้วผู้ใช้บริการจะต้องหลับหูหลับตาใช้ต่อไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ถ้าตอบโจทย์ความขี้เกียจและความสะดวกสบาย อนาคต Google Chrome อาจถูกปฏิเสธได้เช่นกันหากไม่มีการพัฒนา ในขณะที่คู่แข่งอาจจะพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แล้วถ้าผู้ใช้บริการหันมา “เปิดใจ” ลองใช้ Microsoft Edge แล้วสัมผัสได้ด้วยตนเองว่าเห็นว่ามันดีกว่าจริง ๆ ในแง่ของ “ประสบการณ์การใช้งาน” เขาก็จะเปลี่ยนมาใช้ ต่อให้ต้องฝึกฝนความคุ้นเคยไปสักระยะก็ตาม

แต่ในตลาดที่ผูกขาด มีผู้ผลิตน้อยเจ้าก็จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคน้อยลง แทบไม่มีโอกาสที่จะหลีกหนีไปใช้สินค้าและบริการจากเจ้าอื่น ดีหรือไม่ดีก็ต้องทนใช้ต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก แพงแค่ไหนก็ต้องจ่ายเพราะไม่มีคู่แข่งเข้ามาทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และที่สำคัญแบรนด์อาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาหรือปรับปรุงอะไรมากมายเพื่อผู้ใช้งาน เพราะไม่ต้องแข่งขันกับใคร ทำมาอย่างไรผู้บริโภคก็ต้องใช้ไปแบบนั้น ไม่มีทางเลือก